สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ พระครูวรเวทมุนี หรือ หลวงพ่ออี๋ พุทธสโร เจ้าอาวาสวัดสัตหีบ จ.ชลบุรี พระเกจิผู้โด่งดังในยุคสงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อม หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม และ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ในนาม ‘จาด จง คง อี๋’ วัตถุมงคลที่ท่านสร้างแจกจ่ายแก่เหล่าทหารหาญล้วนทรงพุทธคุณปรากฏเป็นที่ยำเกรงของศัตรู ท่านยังเป็นพระเกจิผู้อุทิศตนเสริมสร้างพระพุทธศาสนาและพัฒนาชุมชน เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชน เปรียบเสมือน ‘เทพเจ้าแห่งภาคตะวันออก’ หลวงพ่ออี๋ ได้สร้างพระเครื่องรางต่างๆ ไว้มากมาย ทั้ง ปลัดขิก ตะกรุด เสื้อยันต์ เหรียญพระปิดตา "พระสาม" และ "พระสี่" (พรหมสี่หน้า) ซึ่งล้วนสร้างประสบการณ์เป็นที่ปรากฏเลื่องลือ สำหรับ ปลัดขิก นั้น เรียกว่ามีชื่อเสียงพอๆ กับ หลวงพ่อเหลือ แปดริ้ว ทีเดียว แต่ที่ขึ้นอันดับยอดนิยมต้องยกให้ “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ปี 2473” ซึ่งคณะศิษย์ได้ขออนุญาตหลวงพ่อจัดสร้าง เพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคปัจจัยร่วมหล่อ ‘พระพุทธรูป’ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ผู้สร้าง หลวงพ่ออี๋ นามเดิมว่า อี๋ เป็นชาวจังหวัดชลบุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี พ.ศ.2405 ที่บ้านตำบลสัตหีบ ท่านเป็นเด็กเฉลียวฉลาดเกินวัยและชอบช่วยเหลือผู้อื่นเป็นนิจ เมื่ออายุครบบวชได้อุปสมบทที่วัดอ่างศิลานอก ซึ่งบัดนี้ได้ยุบรวมเข้าเป็นวัดอ่างศิลาวัดเดียว โดยมี พระอาจารย์จั่น จันทโส วัดเสม็ด เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ทิม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์แดง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "พุทธสโร" ศึกษาวิทยาการต่างๆ กับพระอุปัชฌาย์และ ท่านมีความใฝ่ใจในการธุดงควัตร พอออกพรรษาท่านก็จะออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ปลีกวิเวกฝึกกรรมฐาน เมื่อพบเจอพระเกจิผู้ทรงพุทธาคม ก็จะเข้าฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิชาการต่างๆ อย่างเช่น หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย เป็นต้น และหลวงพ่อก็สามารถเรียนรู้ในทุกวิทยาการได้อย่างรวดเร็วและเชี่ยวชาญ นับว่าท่านเป็นพระเกจิรูปหนึ่งที่มีความชำนาญในด้านวิปัสสนากรรมฐานและญาณสมาบัติสูงส่งในสมัยนั้น และไม่ว่าท่านจะธุดงค์ไปที่ใด ก็มักเมตตาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก พร้อมเผยแผ่หลักธรรมคำสอน จนชื่อเสียงระบือไกล คราหนึ่ง หลวงพ่ออี๋ออกธุดงค์มาถึงอ่าวสัตหีบ เห็นว่าเป็นที่เงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม จึงปักกลด ณ สถานที่นั้น ชาวบ้านละแวกนั้นต่างเลื่อมใสศรัทธา กอปรกับต้องการสร้างวัดเพื่อให้ใช้ประกอบศาสนกิจต่างๆ ท่านจึงตกลงใจสร้างวัด โดยมีชาวบ้านและลูกศิษย์ลูกหาร่วมแรงร่วมใจกันจนสำเร็จสมประสงค์ ในนาม “วัดสัตหีบ” หรือที่เรียกว่า “วัดหลวงพ่ออี๋” มาจนทุกวันนี้ โดยหลวงพ่ออี๋ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดรูปแรก ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2489 สิริอายุได้ 85 ปี พรรษาที่ 64 เนื้อหามวลสาร เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ปี 2473 มีการจัดสร้างเป็น เนื้อทองคำ นาค เงิน และทองแดง พุทธลักษณะ จัดสร้างเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์รูปไข่ สำหรับผู้ชาย และ พิมพ์พุ่มข้าวบิณฑ์ สำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะ “พิมพ์รูปไข่” นับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม หูเชื่อม ด้านข้างปั๊มกระบอก ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่ออี๋นั่งสมาธิเต็มองค์เหนืออาสนะ เหนือศีรษะท่านเป็นตัวอุณาโลม และมีอักขระขอม "อุ มะ อะ" ด้านข้างทั้งสองมีอักษรไทยว่า "พระอุปัชฌาย์อี๋" และ "วัดสัตหีบ" ใต้อาสนะเป็นรูปดอกจันทน์ ส่วนด้านหลัง เป็นยันต์สี่ซ้อนกัน ภายในบรรจุ ‘ตัวเฑาะว์’ ส่วนโค้งรอบขอบเหรียญเป็นอักษรไทยว่า "ที่ระฤก ในงานหล่อพระพุทธรูป พ.ศ.2473" พุทธคุณ ปรากฏเป็นเลิศในด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ค้าขาย และ เมตตามหานิยม ครบครัน ครับผม