ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ผมมาพบกับครูบุษบาอีกทีเวลาก็ผ่านไปกว่า 20 ปี
พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2519 จนจบออกมาทำงาน ผมก็ยังได้รับข่าวสารจากทางโรงเรียนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่เป็นข่าวสารของเพื่อนบางคนที่คอยทำหน้าที่ประสานงานกับคุณครูที่โรงเรียน เพื่อแจ้งกิจกรรมของโรงเรียนว่าทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะงานประจำปีและกิจกรรมการกุศลของโรงเรียน จนถึงปี 2540 ที่ผมได้ไปร่วมงานเลี้ยงของรุ่น หลังจากที่จบจากโรงเรียนไปกว่า 20 ปี แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เจอครูบุษบา จนในปีต่อมาที่เราได้จัดงาน “25 ปี มกุฏฯ 1618 รำลึก” (พวกเราคือรุ่นที่จบชั้น ม.ศ. 3 ใน พ.ศ. 2516 และจบชั้น ม.ศ. 5 ในปี 2518 จึงเรียกชื่อรุ่นตามปีที่จบว่า “รุ่น 1618” เพราะพวกเราหลายคนเรียนร่วมกันมาตั้งแต่ชั้น ม.ศ. 1 จนจบ ม.ศ. 3 แล้วบางคนก็ออกไปเรียนที่โรงเรียนอื่น แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่เข้ามาเรียนในชั้น ม.ศ. 4 แล้วเรียนกับพวกเราที่เรียนมาตั้งแต่ ม.ศ. 1 นั้น จนกระทั่งจบการศึกษาด้วยกันใน พ.ศ. 2518)
งานนี้เราได้ครูบุษบาเป็นผู้ประสานงาน คุณครูยังเป็น “เพื่อนที่ดี” ของพวกเราเสมอ ด้วยวัยที่ไม่ห่างจากพวกเรานัก แต่พวกเรายังเคารพในฐานะที่เป็นครูของเราเสมอ แม้จะเคยทะลึ่งตึงตังกับครูมาบ้าง(พอสมควร)ก็ดูจะยิ่งเคารพครูมากกว่าเดิม ซึ่งพวกเราก็ได้ขออโหสิกรรมจากความคึกคะนองของพวกเราในช่วงวัยรุ่นตอนนั้น และเราคิดที่จะขออโหสิกรรมจากครูท่านอื่นๆ ด้วย โดยจะจัดกิจกรรม “เคารพครู” หรือการแสดงมุทิตาจิต เพื่อกราบรำลึกในพระคุณของคุณครูทุกท่าน จึงขอให้ครูบุษบาช่วยเชิญคุณครูที่เคยสอนพวกเรา มาร่วมในงานครั้งนี้ด้วย
ถึงวันงาน พวกเรามาร่วมงานเกือบ 300 คน และมีคุณครูมาร่วมในงานกว่า 30 คน จึงทำให้งานมีความอบอุ่นมาก แล้วเมื่อถึงพิธีมุทิตาจิต เราให้เพื่อน 2 คนประกบคุณครู 1 คน พาท่านขึ้นบนเวที มีพวกเราอีกส่วนหนึ่งร้องเพลง “พระคุณครู” ที่พวกเราช่วยกันแต่งขึ้น เมื่อคุณครูทั้งหมดนั่งลงแล้ว พวกเราแต่ละคนก็ถือพวงมาลัยข้อมือเดินเรียงแถวกันเป็นชุดๆ ตามจำนวนคุณครู ไปนั่งคุกเข่าพนมมือ และกราบลงตรงหน้าคุณครู แล้วกล่าวขอบคุณท่านได้สั่งสอนพวกเราจนเป็นผู้เป็นคนขึ้นมา แล้วกล่าวคำขอขมาพร้อมกับขอพรจากคุณครู พิธีใช้เวลานานพอสมควร แต่ก็เป็นความประทับใจอย่างยิ่งของทุกคน โดยเฉพาะคำพูดของตัวแทนคณะคุณครูที่บอกว่า “พวกเธอคือลูกๆ ที่เราคุณครูทุกคนรักเหมือนลูกจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร อายุเท่าไหร่ ก็ยังเป็นห่วงและเอาใจช่วยเสมอ เพราะเธอจะเป็นลูกของเราตลอดไป”
หลังจบงาน พวกเราคณะกรรมการรุ่นได้มาคุยกันเพื่อสรุปกิจกรรม พวกเราสังเกตว่ายังมีคุณครูจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้มาร่วมงาน เมื่อเราสอบถามไปยังครูบุษบาก็ทราบว่าบางท่านไม่สะดวกที่จะมาร่วมงาน เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง บางท่านก็มีปัญหาเรื่องการเดินทางเพราะไม่มีลูกหลานมาส่งและรับกลับ พวกเราจึงทราบว่ามีคุณครูของพวกเราหลายท่านอยู่ในวัยชรา และอีกหลายท่านต้องมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก พวกเราจึงมาคิดกันว่าในการจัดงานครั้งต่อไป เราจะหาคนไปรับส่งคุณครูทุกคน เพราะพวกเราส่วนใหญ่ก็มีรถพอจะไปรับส่งได้ รวมถึงจะต้องไปเยี่ยมเยียนคุณครูที่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือสูงอายุถึงบ้าน
พวกเรารวมกันเป็นกลุ่มแล้วนัดหมายไปบ้านคุณครูแต่ละท่าน ใช้เวลาอยู่หลายเดือนก็ไปได้เกือบหมด แต่มีอยู่ 2 ท่านที่เราได้พบแล้วยังจดจำอยู่ไม่หาย ท่านหนึ่งเป็นสาวโสดอาศัยอยู่กับพี่สาวซึ่งก็เป็นสาวโสดเหมือนกัน อาศัยอยู่หมู่บ้านจัดสรรแถวพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม แต่ต้องอยู่อย่างยากลำบาก แม้จะมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ เนื่องจากพี่สาวเคยมีอาชีพรับจ้างทำงานทั่วไป พออายุมากแล้วก็ไม่มีใครจ้าง ต้องอาศัยเงินบำนาญของน้องสาวช่วยประทังชีวิต โดยเงินส่วนใหญ่ใช้ไปกับค่ารักษาพยาบาล จ้างคนพาไปโรงพยาบาล และค่าจ้างคนไปซื้อข้าวปลาอาหาร ซึ่งทั้งสองคนก็มีโรคเรื้อรังที่ต้องประคับประคองไปตลอดชีวิต อีกท่านหนึ่งอาศัยอยู่กับหลานแถวอินทามระ ก็มีสภาพของผู้ป่วยนอนติดเตียง ลูกชายคนเดียวเสียชีวิตไปแล้วในปีที่คุณครูเกษียณราชการพอดี ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์พร้อมกับภรรยา ทิ้งลูกสาวคนเดียวให้คุณครูเลี้ยงดู ซึ่งหลานสาวคนนี้ยังเรียนอยู่ชั้นประถม พอคุณครูมาป่วยติดเตียงก็ยิ่งลำบาก ต้องจ้างคนมาเฝ้า คุณครูทั้งสองท่านนี้ปัจจุบันพวกเราก็ยังไปเยี่ยมและนำเงินไปช่วยอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้พวกเราได้กระจายข่าวไปยังศิษย์เก่าซึ่งจบไปแล้วกว่า 50 รุ่น ได้มาช่วยกันดูแลคุณครูทุกท่าน ไม่เฉพาะแต่ท่านที่เกษียณไปแล้ว แต่รวมถึงคุณครูหลายๆ ท่านที่ยังรับราชการอยู่ โดยจัดไว้ในรูปของกองทุนต่างๆ นอกเหนือจากกองทุนที่จัดไว้สำหรับนักเรียนรุ่นน้องที่ยังศึกษาอยู่ ซึ่งก็ตั้งขึ้นในโอกาสต่างๆ ตามความจำเป็นเช่นกัน
ผมไม่สามารถที่จะกล่าวถึงคุณครูทุกท่านได้ จึงให้ครูบุษบาเป็นตัวแทนของคุณครูเหล่านั้นในบางด้าน และเช่นเดียวกันชื่อ “ครูบุษบา” ก็เป็นเพียงชื่อที่สมมติแทนตัวจริงของท่าน เพราะเรื่องที่เล่าไม่ใช่เรื่องของท่านทั้งหมด เพียงแต่นำมาสะท้อน “ความเป็นครู” ของคุณครูผู้มีพระคุณยิ่งเหล่านั้นเท่านั้น ซึ่งผมขอปิดลีลาชีวิตของครูบุษบาด้วยบทเพลงที่เราร้องในวันงาน “25 ปี มกุฏฯ 1618 รำลึก” ไว้ดังนี้
เพลง “พระคุณครู”
ผู้ประพันธ์ นายทวี สุรฤทธิกุล
“ครู” คือแผ่นพื้นผืนดินกว้างใหญ่ บ่มเพาะวิชาก้าวไกล สร้างศิษย์สร้างไทยงดงาม เป็นหลักเป็นฐานเพราะมีครูนั้นชี้นำ หยาดเหงื่อของครูเช้าค่ำ ค่าล้ำงอกงามพัฒนา
“ครู” คือแผ่นน้ำลึกล้ำฉ่ำเย็น สร้างกรอบวินัยกฎเกณฑ์ ให้มีศีลธรรมจรรยา ลูกศิษย์จะร้ายประพฤติเสียหายนานา หัวอกครูล้นเมตตา สร้างมาโอบอุ้มส่งเสริม
** เป็นแสงสว่าง ดุจดังอาทิตย์แรงล้น เป็นแสงพลังตั้งต้น สร้างคนให้รู้ริเริ่ม ลูกศิษย์ได้ดีเพราะมีครูนั้นแต่งเติม ช่วยเหลือเกื้อกูลพูนเพิ่ม ส่งเสริมสู่ความสัมฤทธิ์
“ครู” คือแผ่นฟ้าสร้างมาคุ้มกั้น ประดุจทวยเทพสร้างสรรค์ ปลุกปั้นชุบเนรมิต เป็นตัวเป็นตนผลงานครูนั้นอุทิศ ชีวิตครูทั้งชีวิตเพื่อศิษย์พบความรุ่งเรืองฯ