องค์การยูนิเซฟ เร่งสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนใหม่ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยได้จัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา พร้อมจัดส่งสิ่งของที่จำเป็น ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ครอบครัว เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ในช่วงการเปิดโรงเรียน ทั้งนี้ มาตรการขยายระยะเวลาปิดโรงเรียนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียนเกือบ 13 ล้านคนในประเทศไทย ในขณะที่ทั่วโลก ยูนิเซฟประมาณการณ์ว่า มีเด็กนักเรียนกว่า 1 พันล้านคนใน 130 ประเทศที่ยังไม่ได้กลับไปโรงเรียน เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ยังคงเกิดขึ้นในหลายประเทศ นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “หลังจากที่โรงเรียนปิดมาเป็นเวลาหลายเดือน การเปิดภาคเรียนใหม่ในครั้งนี้จะมีวิถีใหม่ต่างจากที่ผ่านมา ยูนิเซฟยินดีที่ได้เห็นเด็ก ๆ กลับไปเรียนในโรงเรียนอีกครั้ง เพราะไม่มีอะไรจะมาทดแทนการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและเพื่อนในชั้นเรียนได้” ขณะที่เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวที่ยากจนหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล ต้องเผชิญความท้าทายต่างๆ ในการเรียนออนไลน์ระหว่างที่โรงเรียนปิด งานวิจัยหลายชิ้นต่างระบุว่า การไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นเวลานาน อาจลดทอนความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก และส่งผลกระทบต่อผลการเรียน นอกจากนี้ ยังเป็นการสูญเสียกิจวัตรประจำวันของเด็ก อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญกับความรุนแรง และการถูกแสวงผลประโยชน์ “วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ระบบการศึกษาและโรงเรียนทั่วประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เราเห็นว่า เราต้องเร่งปรับปรุงและปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคน รวมถึงเด็กที่เปราะบางที่สุด จะสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งในแง่หลักสูตรและการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของพวกเขา วิกฤตในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่จะเร่งปฏิรูปทางการศึกษาและนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับเด็กทุกคน” ยูนิเซฟและกระทรวงศึกษาธิการ กำลังหาแนวทางในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการส่งเสริมความเท่าเทียมในการศึกษา โดยยูนิเซฟร่วมกับหน่วยงานสหประชาชาติอื่น ๆ เช่น องค์การยูเนสโก และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ในการลดช่องว่างทางเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย ในการประเมินโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทางไกลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 พร้อมกับมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นและส่งเสริมนักเรียนให้มีทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี ตลอดจนสนับสนุนครูในการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ยูนิเซฟยังได้ร่วมกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสเอด (USAID) รัฐบาลญี่ปุ่น และพันธมิตรอื่นๆ รับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยได้จัดส่งเครื่องสแกนอุณหภูมิซึ่งสนับสนุนโดยยูเอสเอด ไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนต่าง ๆ กว่า 2,531 แห่ง ในจังหวัดตาก ระนอง และจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข จัดทำแนวทางการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาและคู่มือครูเพื่อแจกจ่ายไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 19,600 แห่ง และโรงเรียนอีก 38,000 ทั่วประเทศ * ดาวน์โหลดข้อมูลด้านสุขภาพและสุขอนามัยสำหรับพ่อแม่ คุณครู และเด็กๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนใหม่ - วิดีโอชุด “การเตรียมความพร้อมให้ลูกในการเปิดเรียนใหม่ และ “แนวทางที่คุณครูจะช่วยให้เด็ก ๆ ปลอดภัยจากโรคโควิด-19” - อินโฟกราฟฟิก ชุด “คำแนะนำสำหรับคุณครูและสถานศึกษา เพื่อสร้างโรงเรียนให้ปลอดภัยห่างไกลโควิด” - แนวทางการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 - ชุดการเรียนรู้ คู่มือครูสำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 * คำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง ครู และเด็ก ๆ ในช่วงเปิดโรงเรียน สำหรับผู้ปกครอง - สอนเด็ก ๆ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่พวกเขาในการรักษาสุขอนามัย เช่น การล้างมืออย่างถูกวิธี สอนให้เด็กๆ ปิดปากด้วยข้อศอกเมื่อไอหรือจาม และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า - หมั่นเช็คสุขภาพของเด็ก สร้างบรรยากาศให้พวกเขาได้ซักถาม และแสดงความรู้สึกกับผู้ใหญ่ - อธิบายให้เด็ก ๆ รู้ว่าเป็นเรื่องปกติหากเขาจะรู้สึกสับสนและวิตกกังวลในสถานการณ์แบบนี้ และแจ้งให้ครูทราบหากลูกมีปัญหาหรือวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาด สำหรับโรงเรียนและครู - สร้างเสริมนิสัยการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยที่ดี ให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจด้านมาตรการการป้องกันโควิด-19 ในโรงเรียนแก่เด็กและผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ - ตรวจวัดอาการและสังเกตสภาวะทางอารมณ์และจิตใจของนักเรียนทุกวัน - ป้องกันการตีตราและการกลั่นแกล้งที่มาจากโรคโควิด-19 และสอนให้เด็ก ๆ รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น * สำหรับเด็กนักเรียน - รักษาสุขอนามัยสำหรับตนเองและผู้อื่น ล้างมืออย่างถูกวิธีบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการเอามือไปสัมผัสใบหน้า และอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร - รักษาสุขภาพอยู่เสมอ หากรู้สึกไม่สบายหรือมีไข้ ให้รีบบอกผู้ปกครองหรือครูและไปพบแพทย์ พูดคุยกับครอบครัวและครูหากรู้สึกกังวลหรือไม่สบายใจ - ไม่กลั่นแกล้งหรือเยาะเย้ยคนที่ป่วย แต่ให้กำลังใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Facebook: องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย: https://www.facebook.com/unicefthailand/ เว็บไซต์ https://www.unicef.org/thailand/th/coronavirus/covid-19