ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “เราจะต้องพิจารณาสิ่งต่างๆด้วยจิตที่ไม่ลำเอียง...จึงจะเกิดศรัทธาควบคู่ไปกับปัญญา” “คุณค่าของศรัทธาในชีวิตหนึ่ง ย่างก้าวไปบนสายทางที่ชวนสดับรู้ของนัยแห่งชีวิต...ผ่านกระบวนการแห่งเหตุและผลของการหยั่งรู้อันจริงแท้...ที่ไม่โน้มเอียงไปในยังอคติแห่งการหลงใหลใดๆ..ข้อประจักษ์ดังกล่าวนี้จึงย่อมขึ้นอยู่กับเจตคติที่เป็นกลาง ที่ไม่โถมซัดไปทางใดทางหนึ่ง จนหาจุดสมดุลทางความคิดไม่เจอ...แต่มันจักต้องเป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นจากเครื่องมือแห่งจิตวิญญาณที่ไม่สั่นไหว...สงบงาม และมีคุณค่าต่อปัญญาญาณแห่งการพิจารณาห้วงลึกของทุกสิ่งเสมอ...กระทั่งเกิดภาวะบรรลุสู่การมองตนและสรรพสิ่งในโลกนี้...ได้อย่างเป็นกลางด้วยสำนึก แห่ง ความทุกข์ และความสุขอันแท้จริงในที่สุด....” นี่คือแสงฉายแห่งการก่อเกิดของหนังสือเล่มหนึ่ง...ที่องค์ทะไลลามะ..ที่14..ได้เขียนขึ้นโดยแจกแจงคำสอนเรื่องทางสายกลาง จากโศลกคำสอน “มัทธยมกการิกา” ของคุรุนาคารชุน และมุ่งแสดงให้เห็นว่า..เราทั้งหลายล้วนมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการมีอยู่ของตัวตนและสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้มีความทุกข์ “ทางสายกลาง...ศรัทธาอย่างมีเหตุผล ...(The Middle Way..Faith Graduated in Reason)...นับเป็นบทเรียนที่จะโน้มนำให้ผู้อ่าน สามารถมองตนและมองโลกด้านในด้วยท่าทีที่เป็นกลางอย่างแท้จริง ...บทเรียนดังกล่าวนี้ หากได้มีการเรียนรู้และฝึกฝนอย่างถึงแก่นแล้ว จะสามารถถ่ายทอดคุณค่าของความเป็นมนุษย์ออกไปสู่โลกภายนอก...จากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่ง...จากคนหนึ่งไปสู่สมาชิกอื่นๆ ในครอบครัว ...จากสมาชิกในครอบครัวไปสู่เพื่อนฝูง...มันนับเนื่องเป็นหนทางที่จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ครอบครัว ชุมชน และในที่สุด ก็อาจจะส่งผลไปถึงประเทศชาติและมนุษยชาติ หากเราแต่ละคนรู้จักฝึกฝนและอบรมจิต...อานิสงส์จากการปฏิบัตินี้จะแผ่ขยายออกไป...ยังผลให้โลกดีขึ้น “เมื่อข้าพเจ้าละสังขารไปแล้ว เป็นไปได้ว่า..40-50ปีหลังจากนั้น โลกนี้ อาจจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าเราอยากเห็นโลกที่ดีกว่าเดิม เราจะต้องลงมือทำภารกิจนั้นเสียแต่วันนี้ และเดี๋ยวนี้...นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะแบ่งปันแก่ท่านทั้งหลาย...” ปณิธานตรงส่วนนี้ คือปฐมบทแห่ง”การเจริญธรรมอันประณีต”...อันมีรากฐานมาจากชีวิตที่เริ่มต้นในทุกเช้าเมื่อเราตื่นขึ้น...ผสานเข้ากับการพยายามคิดในสิ่งที่เป็นเหตุเป็นกุศลก่อนที่จะเริ่มต้นวันใหม่...แท้จริง เราต่างอาจจะคิดว่า “ขอให้การกระทำทางกาย วาจา ใจ ของฉัน เป็นไปด้วยความกรุณา เพื่อให้ผู้อื่นได้รับอานิสงส์ด้วย” การระลึกเช่นนี้ ...ก็เพื่อจะทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น..ในทำนองเดียวกับว่า...การเปิดโอกาสในการสำรวจจิตใจของเราก่อนเข้านอนในตอนกลางคืนแล้วทบทวนว่า...วันนี้เราได้ทำอะไรไปบ้าง และดูว่ามีคุณค่าพอไหม ...วิธีนี้จะก่อประโยชน์แม้แต่กับผู้ที่ไม่นับถือศาสนาอะไรเลย...เพราะจะช่วยให้ชีวิตมีความหมายมากยิ่งขึ้น...เพื่อที่ว่าเมื่อนาทีสุดท้ายของชีวิตมาถึง เราจะได้ไม่รู้สึกผิดและเสียใจ เราอาจจะรู้สึกเศร้าที่จะต้องจากโลกนี้ไป แต่เราก็พอใจที่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า... “มีสิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์และควรฝึกให้เป็นนิสัย นั่นคือการหมั่นสังเกตกระบวนการของจิต...ว่าในจิตของเรานั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อที่เราจะไม่ได้จมดิ่งอยู่ในห้วงความคิด ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราโกรธ ปกติแล้วความโกรธจะครอบงำทั้งกายทั้งใจ แต่มันสักแต่ว่าเป็นสภาวะเท่านั้น ถ้าเราฝึกจนชำนาญ เวลาที่เกิดความโกรธ เราจะรู้วิธีถอยออกมาเป็นผู้ดู การมีสติมองเห็น โทษภัยของอารมณ์อกุศลได้ทันท่วงที ณ เวลาที่มันเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง..แน่นอนว่ามันไม่ได้ทำได้ง่ายๆ แต่ถ้า เราฝึกฝน ก็ย่อมทำได้ เพราะเมื่อเราเริ่มเห็นความโกรธ และเฝ้ามองดูมัน ความรุนแรงของมันจะลดลงทันที วิธีนี้ ใช้ได้เช่นกันกับความยึดติด ความโศกเศร้า ความหยิ่งทะนง ฯลฯ..เมื่อเราฝึกฝนจิต...สร้างความคุ้นเคย และพยายาม หัดทุกวันจนเป็นนิสัย เราย่อมทำสำเร็จ” ว่ากันว่า...เงื่อนไขแห่งอิทธิพลของกิเลส..นับเป็นแรงเหวี่ยงสำคัญที่ทำให้วิถีแห่งความเป็นกลางของชีวิต ต้องซัดส่าย การเรียนรู้ในเชิงลึกอย่างจริงจังต่อสิ่งนี้...จึงนำไปสู่ความเข้าใจและเป็นที่ยอมรับกันว่า...จริงๆแล้วความเป็นกิเลสจักต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มันสนใจโดยเฉพาะ...เป็นทั้งความชอบ ความไม่ชอบ และเป็นทั้งระดับหยาบ และ ระดับละเอียด...มันจะรบกวนจิตใจในระดับเฉพาะตัวของมัน...ยกตัวอย่างเช่น...ความยึดติดจะปรุงแต่งคุณสมบัติของสิ่งที่มันปรารถนา..ให้วิเศษเกินจริง ...ในขณะที่ความเกลียดชังจะปรุงแต่งสิ่งที่มันไม่ชอบไปในทางลบ...อย่างไรก็ดี..กิเลสทุกประเภทจะรับรู้และแยกแยะสิ่งต่างๆ อย่างเจือด้วยความยึดติดในความมีตัวมีตนของสิ่งนั้นๆ ... “ความชอบก็ดี ความไม่ชอบก็ดี หรือความหลงทะนงตน และสภาวะจิตอื่นๆ ได้ชื่อว่า เป็นกิเลส มิใช่เป็นเพราะคุณสมบัติที่เด่นชัดของมัน แต่เป็นเพราะ เวลาที่เรารับรู้และแยกแยะสิ่งต่างๆ อารมณ์เหล่านั้นกำลังยึดติดว่าสิ่งที่มันชอบ หรือไม่ชอบ มีสวภาวะในตัวเอง” เป็นเช่นนี้..จึงเท่ากับว่า...กิเลสทุกชนิดเป็นเพียงอวิชชาที่หลงผิดยึดติดในสวภาวะอย่างนั้นหรือ?..แต่แท้จริงแล้ว...ความแตกต่างระหว่างตัวโมหะ อันหมายถึงความหลง ที่เข้าไปยึดว่าสิ่งต่างๆมีตัวตน อันหมายถึงมีสวภาวะ ...กับสภาวจิต เช่น ความชอบและความไม่ชอบ ที่เพียงแค่มีเชื้อของความยึดติดในตัวตน เวลาที่โมหะเข้าไปยึดติดในสวภาวะ นั่นมิใช่เพราะมีเหตุปัจจัยอื่นมาประกอบ แต่เป็นเพราะ ยึดติดด้วยอำนาจแห่งโมหะเอง...ส่วนสภาวจิตอื่นๆ ทั้งสองอย่างล้วนมีการยึดติดในสวภาวะด้วยกันทั้งสิ้น... กล่าวโดยสรุปก็คือ...กิเลสอย่างหยาบ มีความหลงผิดอันหมายถึงโมหะ ที่เชื่อว่า สิ่งต่างๆมีตัวตน เป็นปัจจัย ในขณะที่กิเลสละเอียดเกิดขึ้น เมื่อมีสภาวะจิตอย่างหนึ่งเข้าไปทำงานร่วมกับความหลงผิด..จุดประสงค์ของการเข้าถึง ความว่างก็คือ เพื่อเป็นเครื่องต้านความหลงผิดนี้...เนื่องจากกิเลสทั้งหยาบและละเอียด ต่างก็ถูกขับเคลื่อน ด้วยความหลงผิดด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นโอสถที่จะขจัดกิเลสทุกประเภทจึงต้องเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับมุมมองที่ทำให้คนเราเกิดความยึดติดเช่นนั้น... “ที่สุดแล้ว...ความว่างมีธรรมชาติเช่นไร?..การเข้าใจผิดคิดว่าความว่างคือความเปล่าไร้ มีที่มาจากความไม่เข้าใจว่า ลำพังภาษาและความคิดไม่อาจครอบคลุมธรรมชาติและความหมายของความว่างได้อย่างครบถ้วน...หากเรายังไม่หลุดออกจากมิติของความคิด ก็เป็นธรรมดาที่จะคิดว่าความว่างเป็นหนึ่งในบรรดามโนทัศน์ทั้งหลาย..เมื่อติดอยู่ในกรอบนี้ ก็ง่ายที่จะเข้าใจผิดว่า..ทรรศนะที่ว่า ”ทุกสิ่งว่างเปล่า”...ซึ่งถือเป็นทรรศนะที่ถูกต้อง...ย่อมหมายถึง “ความไม่มีอะไรเลย”....ความผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะ เข้าไปยึดถือ “ความไร้สภาวะ”อันเป็นธรรมชาติที่เที่ยงแท้ของสิ่งๆหนึ่งเอาไว้...แล้วทำให้ธรรมชาติในมิตินั้น..กลับกลายเป็นสิ่งที่มีตัวตนจับต้องได้..ซึ่งก็คือท่าทีของการมองความว่างอย่างเป็นรูปธรรม คล้ายกับว่า ความว่างคือสิ่งหนึ่ง./ ซึ่งถ้าคิดในแง่นี้..เมื่อธรรมชาติอันเที่ยงแท้ของทุกสิ่งขาดหายไป ก็ย่อมหมายความว่าไม่มีสิ่งใดเลยที่มีอยู่...แต่สำหรับความว่างมิได้เป็นเช่นนั้น....ความว่างอยู่แยกจากสิ่งที่ว่างก็แต่ในระดับความคิดเท่านั้น มิใช่ระดับของความเป็นจริงที่เป็นรูปธรรม...” ด้วยเหตุนี้..ความว่างจึงเป็นธรรมชาติจริงแท้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ส่วนตัว ที่เราต้องสัมผัสด้วยตัวของเราเองและเพื่อตัวเราเองเท่านั้น และไม่สามารถที่จะถ่ายทอดให้ผู้อื่นทางภาษาหรือความคิดได้.. มาถึงตรงนี้...หลังจากที่ได้พูดถึงหนังสือเล่มนี้ไปในเวลาที่ล่วงผ่านพอสมควร....ข้อตระหนักหนึ่งก็คือว่า..เวลาไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่..มันเคลื่อนไป จากชั่วขณะหนึ่งไปสู่อีกชั่วขณะหนึ่ง...ในขณะที่สิ่งมีชีวิตซึ่งอาศัยอยู่บนโลกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ โลกที่เราอาศัยอยู่หรือสภาพแวดล้อมภายนอกที่อยู่รอบตัวเรา ก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน อะไรเล่าที่เป็นตัวการที่ทำให้สภาพแวดล้อมภายนอก และสรรพสิ่งทั้งหลายต้องเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้?..ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ สรรพสิ่งทั้งหลายเกิดมาจากเหตุ การที่สิ่งที่เกิดจากการปรุงแต่งทั้งปวง เปลี่ยนแปลงไปทุกชั่วขณะ มิใช่เป็นเพราะมีเหตุปัจจัยที่สาม หรือปัจจัยภายนอกมาทำให้มันเปลี่ยน แต่เป็นเพราะ..เหตุ..ที่สร้างมันขึ้นมามีธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเมื่อสรรพสิ่งต่างๆ มีเชื้อพันธุ์ของมันอยู่ในตัว มันจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน และเปลี่ยนแปลงไปทุกๆเสี้ยววินาทีด้วยซ้ำ.. “หากพิจารณา เรื่องนี้ให้ดีก็จะเห็นชัดว่า..ทัศนะที่ว่าสิ่งต่างๆ สามามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยเหตุนั้น ทำให้เกิดแนวคิดสุดโต่งและข้อขัดแย้งสารพัด ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเชื่อเช่นนั้น ก็จะไม่มีเหตุผลเลยว่าทำไมต้นไม้...จึงไม่อาจงอกงามได้ในฤดูหนาวที่เย็นยะเยือก กล่าวอย่างกว้างๆก็คือ ถ้าสิ่งต่างๆสามารถอุบัติขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัย ไม่เพียงแต่กฎแห่งกรรมเท่านั้นที่จะเป็นโมฆะ แต่กฎของเหตุและผลทั้งระบบก็จะต้องพังครืน..ในทางตรงข้าม คำอธิบายที่ว่า..”ทุกสิ่งเกิดจากเหตุ” ก็ย่อมจะมีความสมเหตุสมผลอย่างไม่มีข้อบกพร่องใด” องค์ทะไลลามะที่14..ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้...ได้ระบุถึงเจตจำนงในการเขียนหนังสือเล่มนี้เอาไว้อย่างน่าใคร่ครวญว่า..เพื่อการอธิบายหลักธรรมเบื้องต้น ของพุทธศาสนาสายทิเบต ด้วยความเชื่อมั่นว่า ...คำสอนอันเก่าแก่ของพระพุทธองค์เป็นสิ่งที่มีคุณค่า และยังคงใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย...ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจาก พุทธศาสนาได้รุ่งเรืองในทิเบต ด้วยเนื้อหาที่ครอบคลุมกว้างขวาง...อันประกอบด้วยหลักคำสอนทั้งฝ่ายมหายานและหีนยาน อีกทั้งยังได้ผนวกคำสอนตันตระหรือวัชรยานเข้าไว้ด้วย..และหากจะกล่าวถึงต้นสายธรรม พุทธศาสนาสายทิเบตเป็นหนี้บุญคุณครูบาอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งรุ่งเรืองอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ในช่วงสหัสวรรษแรก เราจะเห็นได้ว่าคัมภีร์หลักๆที่ใช้สอนกันในวิทยาลัยสงฆ์ของทิเบต ล้วนรจนาโดยปราชญ์ผู้รอบรู้แห่งนาลันทาทั้งสิ้น.. “หากสรรพสิ่งดำรงอยู่อย่างมีสวภาวะ โลกทั้งโลกก็จะไร้ซึ่งความเกิดและความดับ และจะดำรงอยู่เช่นนั้นตลอดกาล โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หากสิ่งที่ว่างเปล่ามิได้มีอยู่ ถ้าเช่นนั้น การบรรลุซึ่งยังไม่บรรลุ การดับทุกข์ ตลอดจนกรรม และการจำกัดกิเลสทั้งหลายก็ย่อมไม่มีอยู่” “นัยนา นาควัชระ” นักแปลผลงานแห่งปัญญาญาณ อันเลื่องชื่อ แปลผลงานชิ้นนี้ออกมาเป็นภาษาไทยอย่างงดงามในมโนสำนึก....มันคือบทสะท้อนแห่งภาพเงาของศรัทธาอันมีเหตุผล...แห่ง”ทางสายกลาง” ที่สื่อถึงความเข้าใจในธรรมชาติของสัจธรรม...ท่ามกลางปัจจุบันสมัยที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างถึงที่สุด..อันเป็นเหตุให้มวลมนุษย์ทั้งหลายมัวแต่วุ่นวายอย่างไม่ว่างเว้นอยู่กับเรื่องทางโลก..ในยุคสมัยที่มีสภาพเยี่ยงนี้จึงจำเป็นที่พุทธศาสนิกชนจะต้องมีศรัทธาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างแท้จริง... “เราต้องพิจารณาสิ่งต่างๆด้วยจิตที่ไม่ลำเอียง ...จิตนั้นจะต้องเป็นที่สงสัยใคร่รู้.. รู้จักพิจารณา อย่างรอบคอบ และหาเหตุผลมาอธิบายสิ่งที่เราเชื่อ ...จากนั้นเมื่อรู้เหตุรู้ผลแล้ว...จึงจะเกิดศรัทธาควบคู่ไปกับปัญญา..”