ร่วมสมัย/ชะมวง พฤกษาถิ่น: นิทรรศการศิลปะสร้างสรรค์ของเด็กๆ ที่ชวนให้คุณเพลิดเพลินไปกับภาพวาดลายเส้นกับข้อเขียนเรียงความบรรยายชีวิตประจำวัน อ่านไปก็อมยิ้มไป ที่เด็กๆ ถ่ายทอดออกมาใสซื่อบริสุทธิ์ นิทรรศการ Mitsubishi Asian Chidlren’s Enikki Festa 2019-2020 เป็นโครงการประกวดวาดภาพและเขียนเรียงความสำหรับเด็กอายุ 6 – 12 ปี โดย Mitsubishi Public Affairs Committee / The Asian Pacific Federation of UNESCO Clubs and Associations / National Federation of UNESCO Associations in Japan (NFUAJ) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้น ต้องเท้าความโครงการนี้สักนิดนึง Mitsubishi Public Affairs Committee ฯ ร่วมกับหน่วยงานจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมทั้งสิ้น 24 ประเทศ โดยดำเนินการทุกสองปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม และส่งเสริมความสามารถทางศิลปะ และการเขียนอ่านในเยาวชนในเอเชีย โดยใช้สื่อกลางคือ “Enikki” (เอ-นิก-กิ ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า สมุดบันทึกภาพประจำวัน) ส่วนสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการทั้งหมดจาก NFUAJ และในรอบปี 2019 – 2020 มีนักเรียนจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมถึง 574 คน โดยผลงาน 1 ชิ้น จะต้องประกอบด้วยภาพวาดระบายสี (ไม่จำกัดเทคนิค) และคำบรรยาย บนกระดาษขนาด A4 จำนวน 5 ภาพ ภาพวาดและคำบรรยายของน้องๆ คณะกรรมการของไทยจากแวดวงศิลปินผู้ประพันธ์และวาดภาพหนังสือสำหรับเยาวชน คัดเลือกและตัดสินผลงานยอดเยี่ยมระดับประเทศไทย จำนวน 8 รางวัล และรางวัลชมเชย 20 รางวัล โดยรางวัลยอดเยี่ยมทั้งแปดได้ถูกส่งต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้ารับการตัดสินจากคณะกรรมการจากนานาชาติในการรับรางวัลเพิ่มเติม รางวัลที่ใหญ่ที่สุดคือรางวัล Grand Prix โดยผู้ชนะเพียง 1 คน จาก 24 ประเทศในเอเชีย จะได้เดินทางไปทัศนศึกษาและร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ผลงานของน้องๆ รางวัลยอดเยี่ยมจากประเทศไทย 8 ผลงาน ได้ถูกส่งไปที่ญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอการตัดสินจากคณะกรรมการในเดือนกรกฎาคม 2563 นี้ วกมาที่นิทรรศการแสดงผลงานของน้องๆ นอกจากภาพรางวัลยอดเยี่ยม รางวัลชมเชยแล้วยังมีผลงานร่วมแสดงจากน้องๆ อีก 44 คน รวมภาพวาดแล้วมากกว่า 350 ภาพ โดยตัวนิทรรศการตั้งใจสร้างบรรยากาศที่สนุกสนาน ภาพผลงานของน้องๆ ถูกแขวนบนโครงไม้ที่มีลักษณะคล้ายชิงช้า จัดเรียงเล่นจังหวะในพื้นที่หอศิลป์ ให้ผู้เข้าชมงานสามารถเลือกเส้นทางการชมผลงานของตัวเองได้ นอกจากนี้ ท้ายนิทรรศการยังมีพื้นที่ระบายสี ที่ผู้จัดนิทรรศการได้เว้นที่ว่างให้ผู้ชมแต่งแต้มระบายสีให้ภาพลายเส้นสีขาว-ดำ กลายเป็นภาพสีที่สมบูรณ์ อีกผู้จัดนิทรรศการเองก็หวังเช่นกันว่า โลกที่สีสันสดใส สนุกสนานนี้ อาจจะทำให้ผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่รู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง และการได้อ่านเรื่องราวของน้องๆ ถึงจะเป็นเรื่องราวจากมุมของเด็ก แต่หลายเรื่องราวกลับสะท้อนสภาพแวดล้อม สภาพสังคม อาจทำให้ผู้ใหญ่ตกตะกอนทางความคิดของตัวเองได้ด้วย แม้ผลงานของน้องๆ แขวนในระดับสายตาผู้ใหญ่ แต่งานนี้เป็นนิทรรศการผลงานของน้อง เพื่อไม่ให้น้องๆ รู้สึกถูกทอดทิ้ง ยังมีบันไดขนาดเล็กสีสันสดใส 5 ตัว ที่เด็กๆ สามารถย้ายไปตามจุดต่างๆ เพื่อใช้ต่อขา ขึ้นไปอ่านผลงานของเพื่อน หรือเพื่อระบายสีที่กำแพงระบายสีในจุดที่สูงขึ้นอีกด้วย อยากชวนท่านผู้อ่านและผู้ชื่นชอบงานศิลปะสร้างสรรค์ของเด็กๆ ชมผลงานของน้องๆ วาดภาพและเขียนเรียงความ จัดแสดงชั้น 1 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถึงวันที่ 19 กรกฎาคมนี้