เมื่อเมืองไทยแสดงศักยภาพในการเป็นประเทศที่สามารถควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอันดับสองของโลกส่งผลให้การเดินทางหลังวิฤติครั้งนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขภาพ พร้อมดูแลนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ ด้วยบริบทใหม่ด้านสุขอนามัยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ทางเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล จึงได้เดินหน้าพร้อมนำนวัตกรรมมาปรับใช้แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลงก็ตาม ร่วมทุนสร้างนวัตกรรมใหม่ โดย นายวิชัย ทองแตง ประธานคณะที่ปรึกษากรรมการบริษัทเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล กล่าวว่า จากการยกระดับการท่องเที่ยวบนมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสูงสุดโดยนักท่องเที่ยวและผู้มาใช้บริการทุกคนจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษด้วยบริบทใหม่ด้านสุขอนามัยภายในโรงแรมในเครือ แกรนด์แอสเสทฯ ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าและเทคโนโลยีทันสมัย อย่างการติดตั้งเครื่อง TytoCare และบริการแพทย์ออนไลน์โดยโรงพยาบาลพญาไท นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยแล้วยังเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างประเทศอีกด้วย “เวลานี้ตลาดจีนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการดึงพันธมิตรอย่าง ธนาคารไอซีบีซี(ไทย) จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นธนาคารจีนที่มีสาขาในเมืองไทย จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะการร่วมการค้าดังกล่าวจะเป็นการสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมาย คือ คนจีนในประเทศจีนได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ด้วยทางธนาคารจีนเชื่อในศักยภาพของประเทศไทย ดังนั้นการที่จะได้สินเชื่อในระดับที่เหมาะสมจึงมีความเป็นไปได้ในอนาคต แต่ในเวลานี้ยังไม่มีการพูดคุยในเรื่องดังกล่าว ขณะที่ในส่วนของเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโลเองระหว่างนี้ได้เดินหน้าคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อมาช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสูงสุดอย่างต่อเนื่อง “ นายวิชัย กล่าว พัฒนาเทคโนโลยีสู่โลกใหม่ ด้านนายแพทย์ อภิรักษ์ ปาลวัฒน์วิไชย ผู้อำนวยการประสานงานฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลกลุ่ม Phyathai- Paolo Medical Campus กล่าวว่า ทางกลุ่มพญาไทมีแผนปรับการทำงานรับ New Normal เพื่อให้คนที่มาโรงพยาบาลมั่นใจถึงความปลอดภัย ด้วยระเบียบทางราชการ และด้วยมาตรฐานต่างๆ โดยจัดขั้นตอนต่างๆ ในโรงพยาบาลให้มีความรวดเร็วขึ้นผ่านการดำเนินงานด้านอิเล็คทรอนิคต่างๆ ทั้งการจองคิวนัดหมอ รับยา เป็นต้น เพื่อลดการใช้เวลาในโรงพยาบาลให้น้อยลง ช่วงที่ผ่านมา นายแพทย์ อภิรักษ์ กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ทางกลุ่มพญาไทได้หันมาทบทวนการทำงานด้านเทคโนโลยีมากขึ้นเช่น ก่อนโควิด-19 ระบบtelemedicine เคยทำงานได้ช้ามาก แต่ตอนนี้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด อย่างเช่น แอปพลิเคชั่น Phyathai In Touch ซึ่งเป็นแอปฯ ที่ให้คนไข้กรอกประวัติต่างๆ ทั้งการตรวจโรค จองหมอ นัดหมาย เป็นแอปฯ ที่เกิดในปี 2562 แต่มาโตในช่วงโควิด-19 เพราะทุกคนนิยมเข้ามาใช้แอปฯ เพื่อทำการนัดหมอ และติดต่อกับทางโรงพยาบาล จากเดิมมีสมาชิกอยู่ประมาณกว่า 1 หมื่นรายตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.7-1.8 หมื่นรายภายใน 2 เดือนช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และเมื่อถึงโรงพยาบาลจะมีเเทคโนโลยีที่จะต่อยอดกับแอปฯ ดังกล่าว โดยได้รับผลตรวจอย่างรวดเร็ว ขณะที่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทางด้านสุขอนามัย เช่น การตรวจสุขภาพ นอกจากมี telemedicine ที่มีประวัติของคนไข้แล้วยังมี TytoCare ไว้ตรวจร่างกายโดยลดการสัมผัสได้ในหลายส่วน ซึ่งในช่วงที่มีโควิด-19 ได้มีการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้มากขึ้นโดยบางเคสคนไข้สามารถทำได้เอง แม้ว่าเครื่องมือดังกล่าวจะใช้กันอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ แต่ในเมืองไทยยังไม่นิยม จนช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีต่างได้รับความนิยมมากขึ้น ดังนั้นในการสร้างแบรนด์ของกลุ่มรพ.พญาไทให้กว้างขึ้น คือ ความมุ่งมั่นในการรักษาพยาบาลให้อยู่ในระดับมาตรฐานต่างๆ มากขึ้น ทั้งการประเมินคุณภาพในแต่ละสาขาให้อยู่ในระดับสากล เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลไปสู่การยอมรับในนานาชาติ ทำงานร่วมกับพันธมิตร อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ อภิรักษ์ กล่าวต่อว่า สัดส่วนของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในกลุ่มรพ.พญาไทก่อนโควิด-19 เป็นคนไทยประมาณ 80-85% มาจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น กัมพูชาว ลาว ภูฐาน เวียดนาม ประมาณ 12% ส่วนที่เป็นยุโรป อเมริกาตะวันออกกลาง ประมาณ 5-6% ซึ่งในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคมลูกค้าหายไปประมาณ 20-25% โดยในเดือนมิถุนายนมีประมาณ 75% ส่วนใหญ่จะเป็นคนไข้ที่รักษาต่อเนื่อง โรคเฉียบพลัน คนไข้อุบัติเหตุ ทั้งนี้ในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดนั้น คนไข้ประสบปัญหาขาดยา เนื่องจากไม่กล้ามาที่โรงพยาบาล ซึ่งทั่วโลกจะประสบปัญหาเดียวกันหมด ดังนั้นทางเครือโรงพยาบาลพญาไท จึงมีโครงการ Clinic Connect เพื่อสื่อสารกับคนไข้ มีทั้ง teleconference มีระบบการส่งยา มีระบบการเจาะเลือดในประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางโรงพยาบาลพญาไทไปให้บริการ ส่วนที่ต่างประเทศจะมี teleconference กับคนไข้ ขณะที่ทางโรงพยาบาลจะส่งยาไปให้คนไข้ ผ่านทางโรงพยาบาลที่เป็นพันธมิตร ซึ่งสามารถไปดูแล และรักษาแทนกันได้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน