บทความพิเศษ/วัฒนรักษ์: “สุนทรภู่...ครูกวีที่เก็บกด” (จบ)
ผลจากการจั่วหัวตั้งชื่อบทความนี้ว่า “สุนทรภู่...ครูกวีที่เก็บกด” ซึ่งตอนที่แล้วได้แค่บอกกล่าวกับผู้อ่านเพียงแค่เชื่อว่ามหากวีสุนทรภู่น่าจะเป็น “อาลักษณ์ขี้เมา” ตามฉายาทีได้รับมาแต่ครั้งก่อนจริง แต่ยังไม่ได้มีอะไรบ่งบอกถึงความเก็บกดของท่านเลยสักนิด
ก่อนเข้าประเด็น ขอทบทวนประวัติอันยังมีความไม่กระจ่างอยู่มากมายของท่าน เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพร่วมกันสักนิด
กวีนามสุนทรภู่ท่านนี้เกิดในพื้นที่ของวังหลังซึ่งตั้งอยู่ปากคลองบางกอกน้อยเมื่อ พ.ศ.2329 ตรงกับช่วงรัชกาลที่ 1 ที่เกิดของท่านในปัจจุบันก็คือบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ภูมิลำเนาเกิดของท่านจึงอยู่ในเมืองหลวง ไม่ใช่เมืองระยองดังที่หลายต่อหลายคนเข้าใจกัน เรื่องเกี่ยวกับพ่อแม่ของท่านนั้น บางแหล่งข้อมูลก็ว่าเลิกร้างกันตั้งแต่สุนทรภู่อยู่ในครรภ์ พ่อจึงไปบวชอยู่เมืองแกลง ส่วนแม่ไปเป็นแม่นมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง บางแหล่งข้อมูลลงรายละเอียดถึงกับว่าได้สามีใหม่เลยทีเดียว
ส่วนอีกแหล่งข้อมูลแย้งว่า การที่พ่อแม่ของท่านไม่ได้อยู่ด้วยกันนั้นใช่ว่าจะต้องหย่าร้างกัน อาจจะเป็นไปได้ว่าพ่อที่รับบรรดาศักดิ์เป็นถึงขุนศรีสังหารไปบวชพระเพื่อสืบราชการลับให้ทางราชการ เพราะการที่แม่ท่านได้มาเป็นแม่นมของเจ้านายได้นั้น ตามธรรมเนียมของราชสำนักจะต้องเป็นผู้ที่มีประวัติครอบครัวดีด้วย
แต่โดยสรุปแล้ว พ่อกับแม่ของสุนทรภู่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน และก็ไม่แน่ใจด้วยว่าเมื่อแม่ท่านไปเป็นแม่นมอยู่ในวังแล้วจะปล่อยให้คนอื่นเลี้ยงดูท่านแทนด้วยหรือไม่ ด้วยเหตุดังนั้นสุนทรภู่จึงขาดความอบอุ่นและขาดความผูกพันกับทั้งพ่อและแม่ตลอดมา ซึ่งกลายเป็นปมและความเก็บกดอีกประการหนึ่งของสุนทรภู่ ซึ่งนักจิตวิทยาอย่างคุณบุญสวย เชิดเกียรติกุล สันนิษฐานว่าต้นเหตุดังที่ว่านั้นจึงทำให้ท่านเป็นมิตรกับใครไม่เป็น (loss of interpersonal relationship)
หากท่านได้อ่านนิราศเรื่องต่างๆ ของสุนทรภู่ จะพบว่าสาระที่แฝงอยู่ในนั้นคือกระจกเงาที่ส่องสะท้อนให้เห็นชีวิตของสุนทรภู่ที่แท้จริง เป็นประจักษ์พยานที่ทำให้สามารถเข้าใจสุนทรภู่ได้อย่างแจ่มแจ้ง เพราะงานสร้างสรรค์ลักษณะนี้มักรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ของท่านเข้าไว้ด้วยเสมอ
จากประวัติชีวิตในวัยเยาว์ของสุนทรภู่ที่ขาดพ่อแม่จนมีปมด้อยไม่ต่างอะไรจากการถูกทอดทิ้ง คุณบุญสวย เชิดเกียรติกุลได้ให้แนวคิดเชิงจิตวิทยาไว้ว่า จะแสดงลักษณะต่างๆ ให้ปรากฏออกมาหลายประการ เช่น พึ่งตนเองไม่ได้ ขี้อิจฉา ก้าวร้าว เพ้อฝันใหญ่โต ติดสุรายาเสพติด หนีปัญหา เจ้าชู้ ฯลฯ ซึ่งลักษณะเหล่านี้สุนทรภู่มีเขียนไว้ในนิราศของท่านเกือบทั้งนั้น
คงไม่ขอกล่าวถึงเรื่องของลักษณะของคนติดเหล้าที่ได้ยกขึ้นมาคุยกันก่อนหน้านี้แล้ว คราวนี้มาดูเรื่องของลักษณะที่พึ่งตนเองไม่ได้ ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่เห็นชัดในตัวสุนทรภู่ พอเมื่อได้ที่พึ่งก็เป็นสุข ผู้ที่พึ่งพิงได้ก็เป็นที่รักและสรรเสริญ พอขาดที่พึ่งก็เกิดทุกข์ หากใครขัดข้องไม่ช่วยเหลือ สุนทรภู่ก็โกรธแค้น ซึ่งว่าไปก็เป็นนิสัยที่เกิดจากการขาดแม่นั่นเอง
ท่านผู้อ่านที่สนใจวรรณคดีคงทราบดีว่ารัชกาลที่ 2 เคยพระราชทานยศและที่อยู่แก่สุนทรภู่ ดังนั้นกวีท่านนี้จึงคร่ำครวญถึงอยู่ตลอดเวลา ดังเห็นได้ในนิราศภูเขาทองว่า
“...ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด คิดถึงบาทบพิตรอดิศร โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่แลเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา...”
หรือกล่าวถึงเจ้าฟ้า 2 พระองค์ที่เคยทรงอุปการะว่า “...ด้วยขอบคุณทูลกระหม่อมถนอมรัก เหมือนผัดพักตร์ผิวหน้าเป็นราศี เสด็จมาปราศรัยถึงในกุฎี ดังวารีซาบอาบละออง...” อีกทั้งกล่าวถึงสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ที่ทรงพระกรุณาช่วยย้ายมาวัดโพธิ์ว่า “...เหมือนพบปะพระสิทธาที่ปรารภ ชุบบุตรลบเลี้ยงเหลือช่วยเกื้อหนุน...”
แต่พอพึ่งพาไม่ได้ ท่านก็แสดงความแค้นเคือง ดังที่ได้ด่าว่านายแสง คนนำทางที่หนีไประหว่างไปเมืองแกลงว่า
“...เดชะสัตย์อธิษฐานประจานแจ้ง ให้เรียกแสงเทวทัตจนตัดษัย เหมือนชื่อตั้งหลังวิหารเขียนถ่านไฟ ด้วยน้ำใจเหมือนมินหม้อทรชน...”
เมื่อเจ้าฟ้าอาภรณ์ทรงเฉยเมยไม่ช่วยเหลือ สุนทรภู่ก็ยังตัดพ้อต่อว่าและทวงบุญคุณว่า
“...แผ่นดินหลังครั้งพระโกศก็โปรดเกศ ฝากพระเชษฐานั้นให้ฉันสอน สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม...”
แม้แต่ตัวท่านเองก็รู้ตัวอยู่เหมือนกันว่าเอาแต่คอยพึ่งคนอื่น แต่ก็หักใจไม่ได้ ว่า
“...โอ้อายเพื่อนเหมือนเขาว่ากิ่งกาฝาก มิใช่รากรักเร่ระเหระหน ที่ทุกข์สุขขุกเข็ญเกิดเป็นคน ต้องคิดขวนขวายหารักษากาย ได้พึ่งบ้างอย่างนี้เป็นที่ยิ่ง สัจจังจริงจงรักสมัครหมาย ไม่ลืมคุณพูนสวัสดิ์ถึงพลัดพราย มิได้วายเวลาคิดอาลัย...”
หรือที่ว่า “...คิดอายเพื่อนเหมือนเขาเล่าแม่เจ้านี่ เร่ไปปีละร้อยเรือนเดือนละร้อยบ้าน เพราะบุญน้อยย่อยยับอัประมาณ เหลือที่ท่านอุปถัมภ์ช่วยบำรุง...”
การนำแง่คิดทางจิตวิทยามาใช้ประกอบการศึกษาผลงานทางวรรณกรรม สามารถแก้ข้อสงสัยบางประการในงานชีวิตของสุนทรภู่ได้อย่างชัดเจน ทำให้เราได้เข้าใจอารมณ์ที่ต้องการหาทางออกอย่างเข้มข้นของสุนทรภู่ จนทำให้งานของท่านเต็มไปด้วยชีวิตชีวา และวิธีนี้เองที่เป็นทางช่วยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของสุนทรภู่รอดพ้นจากการเป็นคนไข้โรคจิต (functional) ไปได้อย่างงดงาม จนได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีชั้นเลิศซึ่งนับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของสุนทรภู่
เรียบเรียง : วัฒนรักษ์ [email protected]