เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สภาวะหลังโควิด-19 หลายๆ อุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการกระตุ้น เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. จึงได้จัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการขาย และสนับสนุนการตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ โดย นายสมชาย ชมภูน้อยผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ได้สะท้อนการทำงานภายใต้วิถี New Normal และความพร้อมของภาคการท่องเที่ยวอีสานไว้อย่างน่าสนใจ ชูความพร้อมไว้รองรับ ทั้งนี้ นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. กล่าวว่า ทางภาคอีสานมีความพร้อมที่จะรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Isan Wellness Tourism) เนื่องจากมีความโดดเด่นเรื่องสมุนไพร พืชท้องถิ่น ที่เป็นยา เป็นอาหาร และแนวทางวิถีชีวิต ความเป็นความเป็นอยู่ รวมทั้งมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเหมาะกับการท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าวเป็นอย่างมาก ซึ่งเวลานี้ ททท.ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้นำร่องการท่องเที่ยวด้วยการจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการขายและสนับสนุนการตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ พร้อมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือ และความเชื่อมั่นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปลดล็อคหลังวิกฤตโควิด-19 ด้วยการนำร่อง 9 เส้นทาง 20 จังหวัดทางภาคอีสานรับวิถี new normal โดยมี เส้นทางอุดรธานี – ขอนแก่น – บุรีรัมย์ เป็นเส้นทางแรก และกำลังพัฒนาอีก 9 เส้นทางในภาคอีสาน ผ่านกิจกรรมมินิคาราวาน ซึ่งจะมีบุคลากรทางการแพทย์ร่วมเดินทางในทุกๆ เส้นทาง เพื่อร่วมกันยกระดับการทางท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสาธารณสุข ถือเป็น role model เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภาคอีสานอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น เป็นภารกิจร่วมกันฟื้นฟู อีกทั้ง นายสมชาย กล่าวต่อว่า การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่หลังวิกฤติโควิด – 19 เป็นภารกิจในการร่วมฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยว ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางสมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน ซึ่งได้ดำเนินงานในลักษณะวัฒนธรรมเครือข่ายระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด มีการส่งต่อการบริการร่วมกัน โดยมี สัญลักษณ์ มาตรฐานแนวทางความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA ) เข้ามาสร้างความมั่นใจ โดยเวลานี้ทางเพลาเพลิน บุรีรัมย์ ได้รับมาตราฐานสากลนี้ เป็นสถานประกอบการแรกของจังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นการนำร่อง และช่วยยกระดับความสะอาดและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม นายสมชาย กล่าวต่อว่า ยังได้ตั้งเป้าที่จะทำให้ผู้ประกอบการในจังหวัดบุรีรัมย์ได้มาตรฐาน SHA อีกประมาณ 4-5 ร้อยแห่ง และในจังหวัดทางภูมิภาคอีสานทั้งหมดจะต้องทำให้ได้มากกว่า 50% เพราะถ้าทำให้เกิน 50% ทั้งภาคขึ้นมาได้ ก็จะช่วยยกระดับค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคนของทางภาคอีสานสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะจากเดิมการท่องเที่ยวทางภาคอีสานติดกับดัก ตรงการท่องเที่ยวที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคนต่ำสุดใน 5 ภาคของประเทศไทย เพราะฉะนั้นในวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่จะนำมาใช้สร้างโมเดลใหม่ของการสร้างมูลค่าค่าใช้จ่ายในเส้นทางทางภาคอีสานได้มากขึ้น อีสานเชื่อมต่อเพื่อนบ้าน พร้อมกันนี้ นายสมชาย ยังกล่าวถึง การเปิดประเทศในรูปแบบทราเวลบับเบิ้ล ว่า การจับคู่ประเทศกับนักท่องเที่ยวที่อยู่ในกลุ่มทางภาครัฐได้กำหนดไว้ ทั้งประเทศกัมพูชา และลาว ที่เป็นจุดเชื่อมต่อภาคอีสานนั้น ส่วนใหญ่จะมีด่านถาวรเกือบทุกจังหวัด ซึ่งจะทำให้การเดินของมีความสะดวก เนื่องจากจะเข้าออกด่านไหนก็ได้ตลอดริมตะเข็บชายแดนทางภาคอีสาน ตั้งแต่จังหวัดเลย ไปจนถึงจังหวัดบุรีรัมย เพราะฉะนั้นเสน่ห์ตรงนี้สามารถสร้างจุดขายให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวไทย เหมือนเป็นการซื้อ 1 แถม 1 เช่น ถ้ามาเที่ยวจังหวัดริมแม่น้ำโขง ก็จะมีเส้นทางต่างๆที่จะเดินทางข้ามไปเที่ยวฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเป็นแรงกระตุ้นให้คนตัดสินใจซื้อได้มากขึ้น โดยจะมีการทำงานผ่านบริษัททัวร์ที่มีไลเซ่นการค้า เข้ามาดำเนินการให้ความสะดวก และปลอดภัย