“มนัญญา" สั่งปลดล็อคบัญชีพืชสมุนไพรไทย ให้เกษตรกรทำยาฆ่าแมลง กำจัดวัชพืช ใช้ได้เอง ทดแทนสารเคมีนำเข้าจากต่างประเทศ เล็งเปิดช่องเกษตรกรไทยผลิต คิดค้นสูตรยาฆ่าแมลง-พืช ชั้นเยี่ยมจากพืชธรรมชาติ สมุนไพร วันที่ 1 ก.ค. น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรทำรายละเอียด เพื่อกำหนดแนวทางปรับสารชีวภัณฑ์และสารชีวภาพ ซึ่งสกัดจากสมุนไพร หรือพืชธรรมชาติ ออกจากบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 (วอ.2) มาอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 (วอ.1) ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรที่ประสงค์ผลิตเองใช้เอง แจ้งกรมวิชาการเกษตร เพื่อทราบเท่านั้น แต่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนการผลิต เพราะไม่ต้องการให้พึ่งพิงกับสารเคมีกำจัดแมลงนำเข้าจากต่างประเทศเพียงทางเดียว โดยให้เกษตรกรหันกลับมาใช้ภูมิปัญญาไทยในการทำเกษตร เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นครัวของโลก น.ส.มนัญญา กล่าวว่า การกำหนดให้สารชีวภัณฑ์และสารชีวภาพเป็น วอ.1 จะเป็นการเปิดทางเบื้องต้น เพื่อให้เกษตรกรและคนรุ่นใหม่คิดค้นหรือพัฒนาสูตรของสารกำจัดแมลง เพื่อใช้ในแปลงเกษตรได้เอง และมีหลากชนิดขึ้น โดยเกษตรกรไม่ต้องกังวลว่าการผลิตสารกำจัดแมลงเพื่อใช้เองจะผิดกฎหมาย แต่หากต้องการผลิตเพื่อการค้าจะต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งการดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการ วอ. 2 ทั้งนี้ กำชับกรมวิชาการเกษตรกำหนดมาตรการให้เสร็จใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้ภายในเดือนก.ค.นี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ในเอกสารเผยแพร่ของกรมวิชาการเกษตรระบุว่าวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 นั้น ไม่มีวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ ส่วนวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 คือ วัตถุอันตรายที่การผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครองจะต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งดำเนินการต่อกรมวิชาการเกษตรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ประกอบด้วย สารชีวภัณฑ์รักษาโรคพืช เช่น บาซิลลัส ทูริงเยนซิส สารควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง เช่น ไวต์ออยล์ รีไฟน์ ปิโตรเลียมออยล์ ส่วนสารชีวภาพ คือ ผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากพืชจนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสำคัญหรือจุลชีพที่ทำขึ้น เพื่อใช้ในการป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุมแมลงหรือสัตว์ที่เป็นศัตรูพืช โรคพืช วัชพืช และการควบคุมการเจริญเติบโตของพืช น.ส.มนัญญา กล่าวว่าประเทศไทยมีสมุนไพรใช้กำจัดแมลงหรือวัชพืชหลายชนิด ใช้มาก คือ สะเดา แต่สะเดา กลับถูกนำไปจัดไว้ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือ วอ.2 โดยที่ผ่านมาทางวิชาการอาจจะท้วงติงเรื่องความเข้มข้นหรือยกอุปสรรคต่าง ๆ ทำให้การเข้าถึงยากลำบากทั้งที่เป็นของภายในประเทศ รวมทั้งยังมีเงื่อนไขเกษตรกรจะผลิตใช้ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนต่อกรมวิชาการเกษตร ดังนั้นจากนี้ คนไทยมีภูมิปัญญาไทยอยู่แล้ว ซึ่งหน่วยราชการจะต้องมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการนำมาใช้ เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรให้แพร่หลายมากขึ้นด้วย “อัตราส่วนการใช้สารชีวภัณฑ์และสารชีวภาพ จากสมุนไพร ทางฝ่ายวิชาการต้องวิจัยเพื่อกำหนดสัดส่วนที่เหมะสม แต่ไม่ใช่ปิดกั้นหรือห้ามผลิต จนทำให้เกษตรกรไทยต้องพึ่งพาสารเคมีต่างชาติ ทั้งนี้เป้าหมายในอนาคตอาจมีการค้นพบสารสกัดจากพืชชนิดดีที่สุด ลดการเสียดุลทางการค้าและลดสารเคมีตกค้างในร่างกาย และจะเป็นแนวทางส่งเสริมให้ไทยใช้ของไทยเป็นครัวโลกอย่างสมบูรณ์” น.ส.มนัญญา กล่าว