"ธนาคารโลก" หั่นจีดีพีไทยปี 63 ติดลบ 5% ก่อนจะกลับมาขยายตัวได้ 4.1% ในปี 64 ห่วงภาคครัวเรือนรายได้ลดและคนตกงาน 8.3 ล้านคน ระบุต้องใช้เวลาอีก 2 ปี กลับมาก่อนเกิดโควิด เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.63 นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ว่า ธนาคารโลกได้ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลง โดยคาดว่าจะติดลบ 5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ปลายปีที่แล้วว่าจะขยายตัวได้ 2.9% ก่อนจะกลับมาขยายตัวได้ 4.1% ในปี 2564 และ 3.6% ในปี 2565 เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้มีการล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีผู้ตกงานจำนวนมาก แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือด้วยการให้เงิน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ยืดเวลาการชำระหนี้ และลดภาษีให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อเสริมสภาพคล่องในภาวะวิกฤตโควิด-19 ก็ตาม ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ซึ่งทำให้การค้าโลกหดตัวตาม ซึ่งกระทบต่อการส่งออกของไทยและกระทบต่อภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์และยานยนต์ ขณะที่การเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่อภาคบริการ ภาคค้าปลีก สะท้อนจากยอดขายสินค้าคงทนที่ลดดิ่งลงเกือบ 12% ในช่วงไตรมาสแรกของปี รวมทั้งกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว พร้อมแสดงความเป็นห่วงสวัสดิการของครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะรายได้ลดลง รวมทั้งคนตกงานเพิ่มขึ้นเป็น 8.3 ล้านคน ด้าน นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่ามาตรการเยียวยาภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ถือเป็นมาตรการที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีขนาดถึง 13% ของจีดีพี พร้อมแนะรัฐบาลควรเพิ่มฐานข้อมูลประชากร เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้ตรงจุดและตรงกลุ่มเมื่อเกิดปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแรงงานนอกระบบ และกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย ขณะที่มาตรการภาคการเงิน มองว่าจะต้องเข้าไปช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องของครัวเรือน และภาคธุรกิจเพื่อไม่ให้เข้าสู่ภาวะหนี้เสียเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารโลกมองว่ารัฐบาลยังมีพื้นที่ทางการคลังที่จะรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระยะถัดไปได้ รวมทั้งยังสามารถขยายระยะเวลาในการเยียวยา 5,000 บาทให้กับผู้ได้รับผลกระทบได้อีก โดยรัฐบาลจำเป็นต้องย้อนกลับมาดูสถานะการคลังให้มีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากรายรับของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐจะทำให้มีการจ้างงานเกิดขึ้นได้