วันที่ 30 มิ.ย.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 นาย เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2562 ในกรณีสอบสวนช่วยเหลือ นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทกระทิงแดง ผู้ต้องหา ไม่ให้ถูกดำเนินคดี นั้น ว่า จากเดิมที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 228/2559 ลงวันที่ 22 เม.ย. 2559 สืบสวนข้อเท็จจริง ข้าราชการตำรวจ สังกัดตำรวจนครบาล 5 รวม 11 คน กรณีถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ในคดีจราจร ที่ 632/2555 ลงวันที่ 2555 ของสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ และ กรณี นายวรยุทธ อยู่วิทยา ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีจราจร โดยสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวเกิดความบกพร่องหลายประการ ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือไม่ อย่างไร คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ได้ส่งสำนวนดังกล่าวไปยัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา ไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ถูกกล่าวหา ในประเด็น สอบสวนช่วยเหลือ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหา ไม่ให้ถูกดำเนินคดี ในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุรา, ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและไม่ดำเนินการออกหมายจับผู้ต้องหาเพื่อให้ได้ตัวมาส่งอัยการฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหลบหนีและไม่ได้ตัวฟ้องภายในอายุความ โดยเมื่อ 29 ต.ค. 2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว มีมติว่าการกระทำของ พล.ต.ต.กฤษฎิ์ เปียแก้ว, พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน, พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย, พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง, พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม, ว่าที่ พ.ต.อ.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล และ พ.ต.อ.วิลดล ทับทิมดี มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เพื่อให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ เอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการและประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78(9) และ ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวนเอกสารหลักฐาน คำวินิจฉัยเพื่อให้ดำเนินการทางวินัย นั้น ซึ่งเมื่อ 31 มี.ค. 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่ง ที่ 167/2563 เรื่อง ลงโทษกักยาม ภาคทัณฑ์ และยุติเรื่อง โดย อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 89 ประกอบ กฎ ก.ตร.ว่าด้วยอำนาจการลงโทษข้าราชการตำรวจ อัตราโทษ และ การลงโทษ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน พ.ศ.2547 และ คำสั่งที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรกลงโทษภาคทัณฑ์ พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน, พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง, พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม, ว่าที่ พ.ต.อ.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล กลุ่มสองลงโทษกักยาม ว่า พ.ต.อ.วิลดล ทับทิมดี มีกำหนด 3 วัน กลุ่มสามแยกเรื่องไว้พิจารณา เนื่องจากการพิจารณากำหนดโทษ พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย ซึ่งได้เกษียณอายุราชการแล้ว เมื่อ 1 ต.ค. 2559 และ พล.ต.ต.กฤษฎิ์ เปียแก้ว เกษียณอายุราชการแล้ว เมื่อ 1 ต.ค. 2556 แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัย เมื่อ 29 ต.ค. 2562 โดย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้เมื่อ 6 เม.ย. 2562 และ ไม่มีบทยกเว้นหรือบทเฉพาะกาล ที่บัญญัติให้มีผลใช้บังคับย้อนหลัง ถือได้ว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงได้แยกเรื่องการพิจารณาไว้แล้วส่วนหนึ่ง กลุ่มสี่ยุติเรื่องในส่วน พ.ต.อ.อัครวินต์ สุคนธวิท, พ.ต.อ.วิชัย ณรงค์, ว่าที่ พ.ต.ท.กิติศักดิ์ พรสงวนทรัพย์ และ พ.ต.ต.หญิงสิริภา ศรีทรัพย์ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหา ทั้ง 4 ราย ได้ร่วมกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล จึงตกไป พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวยืนยันว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กร ต้นธารของการอำนวยความยุติธรรม ทั้งการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายบ้านเมืองและการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม มีความตระหนักและให้ความสำคัญถึงเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งในประเด็นข้อสงสัย กระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ถึงความบกพร่อง ย่อหย่อน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขั้นตอนการดำเนินคดีตามกฎหมายและให้ความเป็นธรรมกับญาติ ครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในประเด็นที่เกิดขึ้น ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตลอดจนดำเนินการลงโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน