“ครูตี๋”จวกจีนไม่เปิดเผยข้อมูลปล่อยน้ำเขื่อน-ปล่อยให้คนริมโขงหวาดวิตกเหตุอุทกภัยใหญ่-กอนช.แจงไม่ได้รับผลกระทบ ระบุปริมาณน้ำโขงยังน้อยจนวิกฤต เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.63 จากกรณีเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งสร้างความกังวลต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง ในพื้นที่ 8 จังหวัดของประเทศไทย ว่าจะมีผลกระทบจากมวลน้ำหรือไม่ อย่างไรนั้น นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน แม่น้ำโขงสีเริ่มขุ่นข้น ระดับน้ำเริ่มยกระดับ สถานการณ์แม่น้ำโขงในฤดูกาลนี้จะเป็นอย่างไร จะยังคงเกิดผลกระทบซ้ำรอยเดิมๆ ดังเช่นหลายปีที่ผ่านมาหลังการสร้างเขื่อนหรือเปล่าคือคำถามและข้อกังวลของคนลุ่มน้ำโขงที่ยังไม่มีคำตอบและปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและจริงใจ ภายใต้สภาพความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น นายนิวัฒน์กล่าวว่า ข่าวฝนตกหนักในลุ่มน้ำแยงซีเกียง ซึ่งมีกำเนิดเดียวกับแม่น้ำโขง และสาละวิน จากที่ราบสูงทิเบต ซึ่งเหตุการณ์ที่ลุ่มน้ำแยงซีเกียงทำให้เกิดน้ำท่วมหนักสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนมากมาย ยิ่งเป็นการเพิ่มความกังวลให้กับพี่น้องในลุ่มน้ำโขง เรื่องเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน ที่ก่อสร้างไปแล้วถึง 11 เขื่อน แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนจีน เพื่อนำไปใช้ในการรับมือจากผลกระทบหรือภัยพิบัติ หากมีฝนตกหนักทางตอนบนของแม่น้ำโขง และทำให้เขื่อนรับปริมาณน้ำที่มากเกินไปจนจำเป็นต้องระบายน้ำ หรือกรณีรุนแรง คือเขื่อนแตก ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนย่อมสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในลุ่มน้ำโขงอย่างยากที่จะคาดการณ์ได้ “ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และเครือข่ายในภูมิภาค ได้พยายามเสนอให้มีการพูดคุย เปิดเวทีเจรจาถึงปัญหาของการสร้างเขื่อนและผลกระทบจากเขื่อนตอนบนในจีน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในทุกด้าน เพื่อวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและถูกวิธี แม้ว่าล่าสุดคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้มีข้อตกลงกับจีนในเรื่องการให้ข้อมูลการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อน แต่ก็เป็นข้อมูลเฉพาะช่วงฤดูแล้งเท่านั้น แต่ในฤดูฝนคือเวลานี้ จีนกลับไม่ได้ตกลงให้ข้อมูล นี่คือคือความไม่จริงจังและไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงร่วมกันของจีน เพราะการปิดบังและไม่เปิดเผยข้อมูลในฤดูฝนจะเป็นประโยชน์ต่อจีนเท่านั้น เพราะจีนสามารถควบคุมการบริหารจัดการน้ำโขงจากต้นน้ำด้วยเขื่อนในฤดูฝนอย่างเบ็ดเสร็จแต่เพียงฝ่ายเดียว และการที่จีนให้ข้อมูลในฤดูแล้งก็มีวาระซ่อนเร้นเพื่อประโยชน์ของตนเอง เช่น จีนแจ้งว่าระบายน้ำจากเขื่อนช่วยประเทศท้ายน้ำในฤดูแล้ง เพื่อแสดงให้เห็นความมีน้ำใจ แต่ข้อมูลปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ในเขื่อนตอนฤดูฝนกลับปกปิด” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าว นายนิวัฒน์กล่าวอีกว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาเห็นว่าแท้จริงแล้วเขื่อนตอนบนในจีน ทั้งเก็บกักน้ำและปล่อยน้ำในฤดูแล้ง ก็เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและเดินเรือพาณิชย์ของจีนในแม่น้ำโขง เป็นการจัดการแม่น้ำโขงที่ขัดต่อธรรมชาติของแม่น้ำทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำและผู้คนอย่างรุนแรง ดังนั้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในลุ่มน้ำโขง จีน กลุ่มทุนและประเทศในลุ่มน้ำโขง ต้องหยุดหาประโยชน์จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรที่ทรงคุณค่าและมูลค่าของโลก และหันมาให้ความสำคัญกับแม่น้ำโขงในฐานะแม่ของโลก ที่หล่อเลี้ยงประชาชนกว่า 60 ล้านคน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้เกิดน้ำไหลหลาก เขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งต้องเร่งระบายน้ำฉุกเฉิน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังสูงในหลายมณฑล โดยเฉพาะบริเวณตอนกลางของประเทศ ประกอบด้วย มณฑลเสฉวน-หูเป่ย์-ฉงชิ่ง-หูหนาน และบางส่วนของมณฑลยูนาน ในเรื่องดังกล่าว กอนช.- ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พบว่า สถานการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขง เนื่องจากเป็นลำน้ำคนละสายกับแม่น้ำโขง จึงทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย โดยปัจจุบันปริมาณน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ซึ่งเป็นเขื่อนตัวสุดท้ายของจีน ที่ปริมาณน้ำจะไหลลงแม่น้ำโขงตอนล่าง ยังไม่มีการเพิ่มปริมาณการปล่อยน้ำแต่อย่างใด โดยหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินหรือมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ ทางการจีนจะทำหนังสือแจ้งเตือนมายังประเทศสมาชิกกลุ่มแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อรับทราบสถานการณ์ต่อไป ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์แม่น้ำโขง 29 มิถุนายน 2563 ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงยังคงมีปริมาณน้ำน้อยถึงน้อยวิกฤติ และมีแนวโน้มทรงตัว โดยที่สถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระดับน้ำปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับน้ำวิกฤติอยู่ที่ 13.04 เมตร ที่สถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระดับน้ำปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับน้ำวิกฤติอยู่ที่ 9.96 เมตร ที่สถานีหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระดับน้ำปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับน้ำวิกฤติอยู่ที่ 9.53 เมตร ที่สถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับน้ำวิกฤติอยู่ที่ 10.86 เมตร ส่วนที่สถานีปากเซ สปป.ลาว ระดับน้ำปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับน้ำวิกฤติอยู่ที่ 9.56 เมตร ทั้งนี้ กอนช. จะยังคงติดตามสถานการณ์น้ำในสาธารณรัฐประชาชนจีน และจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป สำหรับแม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของ ประเทศทิเบตและบริเวณมณฑลชิงไห่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญอีก 2 สาย คือ แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีนชาวจีนเรียกว่า “แม่น้ำหลานชางเจียง” (Lancang Jiang) ไหลผ่านภูเขาและที่ราบสูงในประเทศจีน ผ่านมณฑลยูนนานเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และประเทศไทย บริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ผ่านจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร แล้วไหลเข้าสู่ สปป.ลาว และ กัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำ ในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่