แบงก์ชาติมองเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 เป็นจุดต่ำสุด ขณะที่ครึ่งปีหลังยังต้องติดตามการระบาดรอบ 2 ของประเทศขนาดใหญ่ ห่วงตัวเลขคนตกงานเพิ่มขึ้น โดยเดือนพ.ค.ขอรับสิทธิ์ว่างงาน 3.3 แสนคน ถูกเลิกจ้าง 1.1 แสนคน ขณะที่หนี้เสียมีสัญญาณเพิ่มขึ้น แต่มั่นใจไม่กระทบระบบสถาบันการเงินไทยเหมือนต้มยำกุ้งปี 40 นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นเดือนที่ 2 ที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติอย่างเต็มตัว โดยเศรษฐกิจไทยหดตัวสูงขึ้น แม้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศรวมทั้งไทย แต่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจและแรงงานในภาคที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว มูลค่าส่งออกติดลบสูงถึง 23.6% แต่หากไม่รวมทองคำจะติดลบถึง 29% ซึ่งเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้าส่งออกและเกือบทุกตลาด ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าสินค้าหดตัวสูงขึ้นตาม ทั้งนี้การใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนการเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆหดตัว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้มีความเปราะบางมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ตลาดแรงงานพบว่ามีความเปราะบางมากขึ้นจากการที่จำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤษภาคมมีจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงาน 330,000 คน และผู้ถูกเลิกจ้างจำนวน 110,000 คน ทั้งนี้ ธปท.เห็นด้วยกับแผนใช้เงินฟื้นฟู 400,000 ล้านบาทซึ่งเน้นไปที่การจ้างงาน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 เป็นจุดต่ำสุด และจะติดลบน้อยลงในไตรมาส 3 และ 4 และทั้งปีติดลบ 8.1% อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามการระบาดรอบ 2 ในประเทศใหญ่ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งหากรุนแรงจนถึงขั้นมีการปิดเมืองเหมือนรอบแรกก็เสี่ยงที่จะฉุดเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมทั้งเสถียรภาพทางการเงินโลก เช่น ตลาดพันธบัตร และการผิดนัดชำระหนี้ ส่วนในประเทศต้องติดตาม หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL มีสัญญาณเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าระบบสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่งอันดับต้นๆในโลก รองรับเศรษฐกิจที่ติดลบได้ ไม่เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งปี2540