มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินหน้าขับเคลื่อนแนวคิดยุทธศาสตร์เชิงรุก “ด้านล้านนาสร้างสรรค์” รวบรวมองค์ความรู้ ต่อยอดภูมิปัญญา ส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมล้านนาร่วมสมัย และสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมให้เกิดภูมิทัศน์วัฒนธรรมล้านนา สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Sustainable Development Goals-SDGs) ด้านเมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน (SDG 11) การที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในภูมิภาคของวัฒนธรรมล้านนา เป็นศูนย์รวมของผู้รู้ ผู้สนใจเกี่ยวกับภูมิปัญญา ศาสตร์และศิลป์ของอารยธรรม การให้ความสำคัญต่อการสืบสานในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้วัฒนธรรมล้านนาสามารถคงอยู่และเป็นที่ยอมรับในสังคมปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจึงนำความได้เปรียบด้านภูมิประเทศและภูมิสังคมมาทำให้เกิดความร่วมสมัย ผ่านแนวคิด 5E คือ การสร้างประสบการณ์และความสนใจอยากเรียนรู้ (Experience) เพื่อการทดลอง ลงมือทำเวิร์กชอป (Experiment) เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับนานาชาติ (Exchange) มีการแสดงผลงาน (Exhibition) ต้องทำให้คนสนใจและสร้างให้เกิดอีเวนต์ (Event) ซึ่งทุกการทำงานจะเชื่อมโยงไปกับ Lanna Festival and Forum เป็นการนำผลงานมาแสดง มีผู้รู้มาสร้างแรงบันดาลใจสู่การสร้างมูลค่าและทำให้เกิดการอบรมสร้างคอร์สเรียนรู้ตลอดชีวิต (Live long Learning) ผ่านเว็บไซต์ creativelanna.cmu.ac.th เพื่อเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงของแหล่งข้อมูล โครงการต่างๆ ถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือของ คณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสืบสานและคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์แห่งภูมิปัญญาล้านนา เช่น โครงการสืบสานและพัฒนางานหัตกรรม โครงการศิลปกรรมสู่ชุมชน เป็นต้น อีกทั้งมหาวิทยาลัยได้คำนึงถึงความล้ำค่าของความเป็นล้านนาในเชิงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม ขับเคลื่อนโครงการเชิงบูรณาการมุ่งทำวิจัยและบริการวิชาการร่วมกับชุมชน ได้แก่ การท่องเที่ยวล้านนาลองสเตย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพล้านนา รวมถึงเพื่อให้เกิดการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวรุ่นใหม่ (Startup) นำไปสู่การบ่มเพาะผู้ประกอบการล้านนาสร้างสรรค์ ในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ของนักวิจัยให้เข้ากับนวัตกรรมออกไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจจนเกิดความยั่งยืนในระยะยาว ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้สื่อใหม่เพื่อนำสิ่งที่ล้ำค่าในอดีตออกสู่สายตาผ่านทาง Digital Archives รวมทั้งการทำประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิทัลเพื่อนำอัตลักษณ์ล้านนาออกสู่สายตาประชาชนทั่วโลก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักในการอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาให้เป็นที่ประจักษ์และไม่สูญหาย ต่อยอดภูมิปัญญาทั้งมิติของคุณค่า ให้สามารถคงอยู่และตอบสนองต่อวิถีชีวิตปัจจุบัน ตลอดจนปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลกตามตัวชี้วัดใน SDG 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทาน และยั่งยืน ตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติและบรรลุวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย เพื่อการเดินทางไปสู่การเป็นเมืองมรดกโลก