เด็กเรียนดี แห่สมัครเข้าเรียนในเส้นทางสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น หลังผู้ปกครองเชื่อมั่นระบบการเรียนการสอนและสายงานรองรับที่รัฐบาลเตรียมโครงการขนาดใหญ่ไว้ให้ในพื้นที่ ขณะวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ระดมความพร้อมเปิดภาคเรียนท่ามกลางวิกฤติจากโรคระบาดที่เริ่มคลี่คลาย ยันหลักสูตรการสอนยังครบถ้วนสมบูรณ์เหมือนเดิม
วันที่ 30 มิ.ย.63 เวลา 09.00 น. ที่วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ถ.มหาจักรพรรดิ์ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีการจัดปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ในระดับชั้น ปวช.ปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2563 ซึ่งเป็นภาคเรียนแรกหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระหว่างวันที่ 29-30 มิ.ย.63 โดยแบ่งจำนวนนักศึกษาใหม่ให้เข้ามารับการปฐมนิเทศวันละกึ่งหนึ่งของนักศึกษาใหม่ทั้งหมด 9 สาขาวิชาชีพ รวมกว่า 900 คน ก่อนทำการตรวจสุขภาพและทำประวัติทะเบียนบนเครื่องบันทึกแสกนลายนิ้วมือไว้
ขณะเดียวกัน ว่าที่ พ.ต.วัชรพล ลักษณลม้าย ผอ.วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ได้กล่าวเปิดเผยว่า ในปีนี้วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรามีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นในทุกระดับชั้นปี โดยเฉพาะนักศึกษาใหม่ที่เข้ามาในชั้น ปวช.ปีที่ 1 นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2561 มากจากเดิมเคยมีจำนวนนักศึกษาเข้าใหม่จำนวน 794 คน และในปี 2562 มีนักศึกษาเข้าใหม่จำนวน 815 คน ล่าสุดในปีนี้มีนักศึกษาใหม่มากถึง 904 คน
ขณะเดียวกันในระดับชั้น ปวส. ที่จะมีการปฐมนิเทศในวันที่ 1 ก.ค.63 นั้น ได้มีอัตราเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน จากเดิมในปี 2561 มีนักศึกษา ปวส. 1 ทั้ง 8 สาขาวิชาชีพจำนวน 482 คน ปี 2562 มีนักศึกษาใหม่ 508 คน และล่าสุดในปีนี้มีนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 617 คน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการทำงานในเชิงรุกของครูอาจารย์ฝ่ายแนะแนว ที่ได้ออกไปประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจจะมาเรียนได้ทราบตั้งแต่ต้นของภาคเรียนที่ 2 ในเดือน ต.ค.-พ.ย.62
จึงทำให้เด็กผู้ที่มีผลการเรียนดีตั้งแต่ระดับคะแนนเกรดเฉลี่ย 2.50 ขั้นไป เข้ามาสมัครเรียนตามโควต้าได้ก่อน เราจึงได้เด็กที่ตั้งใจเรียนและเรียนดี เป็นเด็กที่มีคุณภาพเข้ามาศึกษาต่อยังภายในวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทราแห่งนี้
ประกอบกับในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้นเป็นหนึ่งใน 3 จังหวัดพื้นที่ตามนโยบายพื้นที่เขตการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาล ซึ่งจะมีความต้องการแรงงานทางด้านสายอาชีพสูงเพิ่มมากขึ้นด้วย จึงทำให้เด็กนักเรียนและผู้ปกครองต่างให้ความสนใจที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนยังที่วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นวิทยาลัยหลักในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นด้วยตามลำดับ ว่าที่ พ.ต.วัชรพล กล่าว
และกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันทางสถานศึกษาได้มีการจัดเตรียมความพร้อมใน 6 มาตรการหลักก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อป้องกันการติดเชื้อของโรคโควิด 19 ไว้แล้ว ด้วยการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การแบ่งกลุ่มในภาคปฏิบัติให้เหลือครั้งละ 10 คน จากห้องเรียนละ 40 คน นอกเหนือจากการแบ่งให้เข้ามาเรียนสัปดาห์ละ 20 คนต่อห้องแล้ว
นอกจากนี้การจัดเตรียมสถานที่ เช่น โรงอาหาร สถานที่นั่งพักผ่อนระหว่างรอเข้าเรียน ตลอดจนการเดินทางมาเข้าเรียน หลังจากผ่านเครื่องแสกนลายนิ้วมือแล้ว ยังได้มีการจัดเตรียมซิงค์ล้างมือด้วยสบู่ การเดินผ่านเครื่องแสกนความร้อน ก่อนเข้ามายังภายในวิทยาลัย และการจัดโต๊ะนั่งรับประทานอาหารในโรงอาหารให้มีระยะห่างและฉากกั้น พร้อมลดจำนวนนักศึกษาให้เข้าใช้บริการในพื้นที่เพียงกึ่งนึ่งจากเดิมประมาณ 400 คนเหลือครั้งละ 200 คน ว่าที่ พ.ต.วัชรพล กล่าว
ด้าน น.ส.สมจิตต์ อุระงาม รอง ผอ.ฝ่ายวิชาการ วท.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนนักศึกษาของวิทยาลัยท่ามกลางสถานการณ์เฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด 19 นั้น ได้มีการจัดการเรียนการสอนหลังเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค.ตามนโยบายของรัฐบาล ไปจนถึงวันที่ 13 พ.ย.63 จึงสิ้นสุดภาคเรียนที่ 1 ซึ่งจะมีการจัดการสอนให้นักเรียนแบ่งกลุ่มสลับกันมาเรียนแบบสัปดาห์เว้นสัปดาห์
โดยเน้นให้นักศึกษาเข้ามาฝึกปฏิบัติงานจริงในภาคปฏิบัติยังภายในสถานศึกษา ส่วนภาคทฤษฎีจะเน้นให้กลับไปเรียนยังที่บ้านพักควบคู่กับระบบการเรียนการสอนออนไลน์ และรับใบงานกลับไปทำยังที่บ้าน โดยที่หลักสูตรยังคงจัดให้นักศึกษาได้เรียนจนครบ 18 สัปดาห์ตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการตามเดิม และไม่มีอะไรที่หายไปจากหลักสูตร น.ส.สมจิตต์ กล่าว