กรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุโควิด-19 ไม่กระทบ เผย 6 เดือนแรกปีนี้ตั้งโรงงานใหม่ 1.7 พันแห่ง เพิ่ม 10.22% จ้างงานสูงสุดรอบ 3 ปีแตะ 1.2 แสนคน นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า สถิติยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือ รง.4 และการขยายกิจการใน 21 กลุ่มอุตสาหกรรมในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2563 (ม.ค.–29 มิ.ย.)ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก โดยมียอดขอรวมทั้งสิ้น 1,702 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 10.22% เม็ดเงินลงทุนรวมยอด 174,850.47 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 14.09% แต่การจ้างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี หรือย้อนหลังไปปี 2561 โดยจ้างงานใหม่ 123,794 คน เพิ่มขึ้นถึง 79.23 % ช่วยแก้ปัญหาการว่างงานของแรงงานจากผลกระทบการระบาดโควิด-19 และรองรับนักศึกษาที่จบใหม่ได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้คาดว่าตลอดปีนี้จะมียอดขอ รง.4 และขยายกิจการรวมกว่า 3,000 แห่ง เท่า ๆ กับปี 2562 โดยคาดหวังว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ นักลงทุนอาจจะมีความเชื่อมั่นและเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่น ส่วนการจ้างงานใหม่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก สะท้อนว่าภาคอุตสาหกรรมมีการวางแผนการลงทุนล่วงหน้า ทำให้ตัวเลขการลงทุน การจ้างงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามจะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปในไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งอาจจะมีผลกระทบจากโควิด-19 มาเป็นตัวชี้วัดอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์มีความต้องต้องการแรงงานเพิ่ม 39,873 คน รองลงมาคือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร มีความต้องการแรงงาน 20,112 คน กลุ่มผลิตเครื่องจักรเครื่องกล 11,910 คน กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 6,002 คน และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 5,814 คน ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลขการขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2562 จำนวน 1,702 ราย แบ่งเป็นขอใบอนุญาตประกอบกิจการ 1,267 ราย ลดลง 3.36 % จ้างงาน 52,692 ราย เพิ่มขึ้น 25.58 % และเงินลงทุน 71,121.96 ล้านบาท ลดลง 30.16 % และการขยายกิจการ 435 ราย เพิ่มขึ้น 13.58% จ้างงาน 71,102 ราย เพิ่มขึ้น 53.65% เงินลงทุน 103,728.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.07 % “อุตสาหกรรมอาหารมีการขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานและขยายกิจการสูงสุด 97 ราย เพิ่มขึ้น 44.78 % มีการจ้างงาน 15,631 คน เพิ่มขึ้น 44.21% และเงินลงทุน 14,390.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.19 % สาเหตุที่มีการขออนุญาตลงทุนโรงงานประเภทนี้มากสุด เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมนี้มีการเติบโตสูง” ส่วนอันดับ 2 ผลิตภัณฑ์พลาสติก 36 ราย ลดลง 41.94% จ้างงาน 2,363 คน ลดลง 36.16% และเงินลงทุน 2,763.92 ล้านบาท ลดลง 64.93% กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพืช 32 ราย เพิ่มขึ้น 6.67% จ้างงาน 1,706 คน เพิ่มขึ้น 79.58 % เงินลงทุน 5,266.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.71%,ผลิตภัณฑ์อโลหะ 31 ราย เพิ่มขึ้น 82.35% จ้างงาน 2,474 คน เพิ่มขึ้น 1,346.78% ลงทุน 2,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 645.68% และกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 26 ราย ลดลง 15.38% จ้างงาน 3,462 คนเพิ่มขึ้น 69.54 %เงินลงทุน 3,076.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.63% ขณะที่การเลิกกิจการช่วงครึ่งปีแรกปีนี้มียอดรวม 404 โรงงาน เลิกจ้างงานรวม 16,680 คน เงินลงทุนหายไป 25,400 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 เลิกกิจการสูงกว่าด้วยยอดเลิกกิจการ 666 โรงงาน ยอดเลิกจ้างงาน 24,585 คน เงินลงทุนหายไป 48,299 ล้านบาท ส่วนปี 2561 ยอดเลิกกิจการ 550 กิจการ เลิกจ้างงาน 23,251 คน ยอดเงินลงทุนหายไป 24,073 ล้านบาท