“กรณ์” ปัดวิจารณ์ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ชี้ นโยบายต้องเร็วและแรงเข้าถึงรากหญ้า แนะรัฐบาลคิดให้ดีใช้งบแก้ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.63 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงกรณีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีรายชื่อเป็นส่วนหนึ่งในทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญ เพราะประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ทีมเศรษฐกิจมีหน้าที่เร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาของผู้ประกอบการ SME รายย่อย ที่กำลังรอความช่วยเหลืออยู่ เพราะคนในประเทศไม่มีกำลังซื้อ นักท่องเที่ยวไม่มีใครเข้ามา โดยหวังว่าใครก็ตามที่เข้ามามีหน้าที่ดูแลปัญหาของเศรษฐกิจ จะมีนโยบายตอบโจทย์ ซึ่งตนขอให้กำลังใจ ส่วนเรื่องของตัวบุคคลตนไม่ขอให้ความเห็น เพราะตนไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว เมื่อถามว่าการปรับครม.ในตอนนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า การปรับครม.เป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม จะอย่างไรก็ได้ขอให้ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ยอมรับว่าประชาชนเดือดร้อนทั้งรากหญ้า และชนชั้นกลาง เพราะฉะนั้นนโยบายจะเร็ว และแรงตรงต่อกลุ่มเป้าหมาย อะไรที่ดีเราก็ชม อะไรที่บกพร่องเราก็จะเสนอแนะวิธีการที่อาจจะดีกว่าในการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เมื่อถามว่าการยุบสภาแบบสิงคโปร์โมเดล จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่นั้น นายกรณ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับการทำงาน และขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญคือต้องพึ่งคนที่รู้จริง ส่วนความเห็นของการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องชี้แจงว่าทำไมถึงต้องอาศัยพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประชาชนจะต้องใช้วิจารณญาณ ว่าการชี้แจงขอรัฐบาลเหมาะสมหรือไม่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ควรใช้ในกรณีที่ไม่จำเป็น ส่วนจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ หรือไม่นั้น ตนมองว่ามีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ถือเป็นปัจจัยใหญ่ทำให้การค้าขายไม่คล่องตัว การท่องเที่ยวหยุดชะงัก นายกรณ์ ยังกล่าวถึงการใช้งบประมาณที่ตอบโจทย์ต่อการแก้ไขปัญหาว่า ตอนนี้เรามีอยู่ 3 งบประมาณ งบประมาณ 2563 งบเงินกู้ และงบปี 2564 ทั้งหมดจะต้องใช้อย่างชาญฉลาดทันต่อเหตุการณ์ แต่เท่าที่เห็นเราพึ่งพาระบบราชการแบบเดิมๆ มากเกินไป ซึ่งควรจะทำงานตอบโจทย์ของประชาชน เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรัฐบาลยังมีเวลาคิดให้ดีว่าการใช้เงินในทุกนโยบายเป็นการใช้ที่ตอบโจทย์ปัญหาประชาชนมากที่สุดแล้วหรือไม่ และควรตั้งคำถามว่ามีวิธีใช้เงินที่ดีกว่านี้แล้วหรือไม่ และใช้เงินได้ตรงจุดกว่านี้หรือไม่ ทั้งนี้หวังว่ารัฐบาลจะรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเรื่องการใช้เงินทั้งเงินงบประมาณ และเงินกู้