โรคดึกดำบรรพ์ ที่มีวิวัฒนาการมาถึงปัจจุบัน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย ได้โพสต์ผ่านเพจ “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” ระบุ วัณโรคเยื่อบุช่องท้อง (Peritoneal TB) อย่างเดียว พบได้น้อยมาก วินิจฉัยยาก รักษาเหมือนวัณโรคปอด ผู้ป่วยชายไทยอายุ 84 ปี เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ไตวาย ฟอกไตต่อเนื่องนาน 4 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการไข้ 1 สัปดาห์ ไอนิดหน่อย ไม่ปวดท้อง น้ำหนักไม่ลด ตรวจร่างกาย มีไข้ 38 องศาเซลเซียส อย่างอื่นปกติ เจาะเลือด เม็ดเลือดขาวปกติ ส่งเลือดเพาะเชื้อไม่พบเชื้อแบคทีเรีย เก็บตัวอย่างจากหลังโพรงจมูกตรวจหาพันธุกรรมของเชื้อไวรัสทั่วไปและไวรัสโควิด-19 ให้ผลลบ ย้อมเสมหะไม่พบเชื้อวัณโรค เอกซเรย์ปอดปกติ ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงของหัวใจ echocardiogram ปกติ ทำคอมพิวเตอร์ปอดและช่องท้อง มีน้ำในช่องท้องเล็กน้อย อย่างอื่นปกติ ไม่พบสาเหตุของไข้ ได้ทำการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (PET Scan) พบน้ำในช่องท้องเล็กน้อย มีผนังบุช่องท้องหนาตัว เป็นตุ่มๆ หลายตำแหน่ง สงสัยมีการติดเชื้อและอักเสบในเยื่อบุช่องท้อง ได้ทำการส่องกล้องผ่านรูเล็กๆ ที่เจาะผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปในช่องท้อง เพื่อดูอวัยวะต่างๆ ในช่องท้อง (video laparoscopy) พบมีน้ำในช่องท้องไม่มาก มีตุ่มเล็กๆที่เยื่อบุช่องท้องหลายตุ่ม หลายตำแหน่ง (ดูรูป) ได้ตัดเยื่อบุช่องท้องบริเวณนั้น (ดูรูป) ส่งตรวจพยาธิวิทยา พบมีการอักเสบเรื้อรังและมีลักษณะสงสัยวัณโรค (Chronic inflammation with granulomatous lesion containing multinucleated giant cells and focal necrosis) ส่งชิ้นเนื้อย้อมเชื้อไม่พบเชื้อวัณโรค ตรวจรหัสพันธุกรรมของชิ้นเนื้อจากเยื่อบุช่องท้องพบเชื้อวัณโรค ผลการเพาะเชื้อวัณโรคของชิ้นเนื้อจากเยื่อบุช่องท้อง พบเชื้อวัณโรคไวต่อยารักษาวัณโรคทุกตัว สรุป ผู้ป่วยรายนี้มีไข้เรื้อรังจากการติดเชื้อวัณโรคในเยื่อบุช่องท้องอย่างเดียว วินิจฉัยจากการตัดชิ้นเนื้อของเยื่อบุช่องท้อง หลังจากให้ยารักษาวัณโรค ไข้เริ่มลง อาการดีขึ้นกลับมาเป็นปกติภายในเวลา 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยรายนี้ไตวาย ต้องปรับยารักษาวัณโรคตามการทำงานของไต และต้องให้ยารักษาวัณโรคต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน