ก.วัฒนธรรมของไทยสบจังหวะทวงคืนโบราณวัตถุ133รายการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์-สถาบันการศึกษา 20 แห่งในสหรัฐอเมริกา ระบุทับหลังปราสาทเขาหัวโล้น-ทับหลังประสาทหนองหงส์ มีหลักฐานชัดเจน ด้านสหรัฐฯรับปากช่วยติดตามคืน เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 60 นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยความคืบหน้าการติดตามโบราณวัตถุของไทย 2 รายการ โดยนายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ 3 คนจากสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations) หรือ HSI สหรัฐอเมริกา เข้าหารือแนวทางการติดตามโบราณวัตถุของไทยที่สูญหายและถูกลักลอบนำออกนอกประเทศ จากข้อมูลปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)โดยกรมศิลปากรได้สำรวจพบว่ามีโบราณวัตถุของไทยจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์และสถาบันการศึกษาในสหรัฐอเมริกา 20 แห่ง จำนวน 133 รายการ แต่ที่มีหลักฐานยืนยันค่อนข้างชัดเจน ได้แก่ 1.ทับหลังปราสาทเขาโล้น เป็นทับหลังจำหลักลายเทวดาประดับเหนือ เกียรติมุข ศิลปะลพบุรี (ศิลปะเขมรโบราณในประเทศไทย) ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ที่ ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว โบราณวัตถุชิ้นดังกล่าวเคยปรากฏภาพถ่ายอยู่ในหนังสือศิ ลปะสมัยลพบุรี โดยศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิ ศ ดิศกุล มหาวิทยาลัยศิลปากร ตีพิมพ์เมื่อปี 2510 และมีการนำเสนอข่าวว่ามีการจัดแสดงที่เอเซีย อาร์ท มิวเซียม ในนครซานฟรานซิสโก (Asian Art Museum) 2.ทับหลังปราสาทหนองหงส์ เป็นทับหลังจำหลักรูปพระยมทรงพระบือเหนือเศียรเกียรติมุข ศิลปะลพบุรี (ศิลปะเขมรโบราณในประเทศไทย) ราวพุทธศตวรรษที่ 16 คาดว่าเคยเป็นทับหลังที่อยู่เหนือกรอบประตูปราสาทหลังใต้ของ ปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ โบราณวัตถุชิ้นนี้เคยปรากฏภาพถ่ายในรายงานโครงการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรมศิลปากร เมื่อปี 2502 ปัจจุบันทับหลังชิ้นนี้จัดแสดงที่เอเซีย อาร์ท มิวเซียม เช่นกัน “ผลจากการหารือเบื้องต้นคณะของอุปทูตฯ และเจ้าหน้าที่สำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ แสดงความจำนงว่ายินดีและพร้อมให้ความร่วมมือกับทางการไทยอย่างเต็มที่ในทุกๆ ด้านในการติดตามโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไปยังสหรัฐอเมริกา และรับปากว่าจะกลับไปช่วยประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในสหรัฐฯ เพื่อตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกั บโบราณวัตถุชิ้นต่างๆ ตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย โดยสหรัฐฯ เองกล่าวมีนโยบายชัดเจนเคารพหลักสากล คืนโบราณวัตถุที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องกลับคืนประเทศ” นายวีระ กล่าว นายวีระ กล่าวอีกว่า นอกจากโบราณวัตถุ 2 รายการนี้ ยังได้มอบนโยบายให้กรมศิลปากรไปดำเนินการค้นหาที่มาที่ไปมาและหลักฐานของโบราณวัตถุทั้ง 133 ชิ้น เพื่อยืนยันให้ชัดเจนเคยอยู่ถิ่นกำเนิดใด เช่นเดียวกับกรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทหินพนมรุ้ง ที่สหรัฐฯ ส่งคืนกลับมาประเทศไทย เพราะมีหลักฐานชัดเจนถูกโจรกรรมช่วงสงครามเวียดนาม แล้วไปจัดแสดงที่สถาบันศิลปะชิคาโก สหรัฐฯ และโบราณวัตถุส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมลอยตัว เช่น พระพุทธรูป เทวรูป พระโพธิสัตว์ “วธ.ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาเพื่อให้การติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศเป็นวาระแห่งชาติ โดยคณะกรรมการฯมีหน้าที่สำรวจและจัดเก็บข้อมูลโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะสหรัฐฯ เท่านั้น ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย นอกจากนี้จะมีการตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุแต่ละยุคสมัย ถือเป็นการระดมผู้เชี่ยวชาญครั้งใหญ่ ทั้งนี้ เบื้องต้นตนได้รายงานนายกฯ ถึงผลการหารือในครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว” นายวีระ กล่าว รมว.วัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า จากสถิติโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของไทยที่กรมศิลปากรได้รับคืนจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 48 ปี (2510–2558) รวมทั้งหมด 14 ครั้ง 851 รายการ แต่ถ้ารวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของไทยที่ได้รับคืนจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2508-2560 รวม 52 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งหมด 19 ครั้ง จำนวน 1,024 รายการ โดยความร่วมมือของหน่ วยงานกระทรวงต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม โบราณวัตถุที่ส่งคืนหากมีหลักฐานชัดเจนจะกลับสู่ถิ่นกำเนิด ส่วนที่ยังไม่แน่ชัดจะเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร