แม้จะเป็น “วาระประเด็นรอง” แต่ทำไปทำมา ก็กลับกลายเป็นว่า มาแรงแซงโค้ง เสียยิ่งกว่า “วาระประเด็นหลัก” กันเสียอีก สำหรับ วาระการหารือของการพบกันระหว่าง “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ” กับ “ประธานาธิบดีอันด์แชย์ ดูดา ผู้นำโปแลนด์” ซึ่งมีขึ้นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เปิด “ทำเนียบขาว” ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมือหลวงของประเทศ ให้การต้อนรับอย่างสมฐานะชาติพันธมิตรสำคัญจากภูมิภาคยุโรปเลยทีเดียว ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ได้เปิดห้องต่างๆ ภายในทำเนียบฯ ให้ประธานาธิบดีโปแลนด์ ได้เข้าไปยลโฉมถึงภายใน ทั้งนี้ การมาของประธานาธิบดีโปแลนด์รายนี้ ก็ถือเป็นผู้นำจากต่างประเทศคนแรกที่เดินทางเยือนสหรัฐฯ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปีนี้เป็นต้นมา จนทางการของหลายๆ ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ ต้องประกาศบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ถึงขั้นปิดน่านฟ้า จนไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันได้ ประเด็นหลักๆ ของวาระในการพบปะกันระหว่างผู้นำทั้งสอง ก็เป็นเรื่องการกระชับความสัมพันธ์ ให้คำมั่นที่จะร่วมมือในด้านต่างๆ ของทั้งสองประเทศ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง เป็นต้น ทว่า ปรากฏว่า ประเด็นหลักๆ เหล่านั้น ดูท่าจะไม่ได้รับความสนใจสักเท่าใด แต่กลายเป็นประเด็นรอง อันเป็นเรื่องรายละเอียดแยกย่อยในการร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับโปแลนด์ กลับได้รับการให้ความสนใจเหนือกว่าประเด็นใดๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีดูดา หารือกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ ก็เนื่องจากเนื้อหาของประเด็นข้างต้น ก็ส่งผลกระทบต่อชาติอื่นๆ รวมไปถึงภาคีองค์การระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับหลายๆ ประเทศ โดยประเด็นด้านความมั่นคงดังกล่าว ก็เกี่ยวกับการตั้งฐานทัพทางทหาร ที่ต้องบอกว่า อาจพลิกโฉมจากที่มีมาแต่เดิมๆ เฉกเช่นที่ผ่านมา นั่นคือ การหารือถึงเรื่องการย้ายฐานทัพสหรัฐฯ จากประเทศเยอรมนี ไปยังประเทศโปแลนด์ ทั้งนี้ ฐานทัพในเยอรมนีที่ว่า หากว่ากันในทางทหาร สหรัฐฯ เข้าไปปักหลักตั้งแต่ไฟสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่มอดดับเลยด้วยซ้ำ คือ กรีธาทัพเข้าไปปราบกำราบนาซีในช่วงสงครามมหายุทธ์ดังกล่าว พร้อมๆ กับการ “ยันทัพ” มิให้กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตรัสเซียเมื่อครั้งอดีต มิให้รุกเข้ามาทางฟากตะวันตกของกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี กระทั่งประจำการกันมาอย่างต่อเนื่องถึง ณ ปัจจุบัน ในฐานะชาติสมาชิกสำคัญขององค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต กล่าวกันถึงกระแสการย้ายฐานทัพ ก็มีรายงานถึงกระแสมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาว่า ทางการโปแลนด์ ต้องการให้สหรัฐฯ เข้าไปตั้งฐานทัพในประเทศของตน ด้วยการร้องขอต่อทางการวอชิงตันในห้วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่โปแลนด์อยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีดูดา ด้วยเหตุผลหลายประการไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่จะได้รับการสนับสนุนเรื่องงบประมาณด้านกลาโหม และเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่โปแลนด์ว่า จะรอดพ้นจากภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากรัสเซีย ซึ่งเคยเป็นชาติที่ทรงอิทธิพลเก่าของโปแลนด์ เมื่อครั้งที่ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เรืองรองในภูมิภาคยุโรปตะวันออก เมื่อว่ากันถึงภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากรัสเซียแล้ว ก็เป็นที่หวั่นเกรงของอดีตชาติบริวารเก่าของอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย โดยมีกรณีของ “สงครามกลางเมืองยูเครน” เป็นอุทาหรณ์ ซึ่งรัสเซีย ของ ฯพณฯ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ทำให้ประเทศยูเครน แตกเป็นเสี่ยงๆ จนถึง ณ ชั่วโมงนี้ ดูเหมือนว่า คำร้องขอของประธานาธิบดีดูดา ได้รับการต้อนรับจากประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นอย่างดี เพราะก่อนหน้านี้ผู้นำสหรัฐฯ ได้ประกาศว่า จะย้ายฐานทัพออกจากเยอรมนี เพื่อลงดาบเยอรมนีอยู่กลายๆ จากปัญหาระหองระแหงหลายประการ รวมถึงการขัดแย้งเรื่องที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องการให้เยอรมนีจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายของฐานทัพสหรัฐฯ ในเยอรมนีให้มากขึ้นจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 4 ของจีดีพี อย่างไรก็ดี บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า นอกจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ ยุคประธานาธิบดีทรัมป์ กับเยอรมนี ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลแล้ว ก็ยังมีเหตุผลเรื่องยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนไปด้วยว่า จากภัยคุกคามด้านความมั่นคงของยุโรปจากรัสเซีย ซึ่งการย้ายฐานทัพจากเยอรมนีไปยังประเทศอื่นๆ ทางยุโรปตะวันออก รวมถึงโปแลนด์ ดูจะเหมาะสมสำหรับการรับมือกับรัสเซียมากกว่า ด้วยประการฉะนี้ โลกก็อาจได้เห็นทหารสหรัฐฯ จำนวนเกือบ 1 หมื่นนาย และยุทโธปกรณ์ต่างๆ ประดามี เช่น ฝูงบินขับไล่เอฟ-16 เป็นต้น ไปประจำการในโปแลนด์ แทนที่เยอรมนี ในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า คือ อนาคตไม่ไกลจากนี้ มิใช่เพียงแค่ลาดตระเวน ซ้อมรบกับกองทัพโปแลนด์เหมือนเฉกเช่นที่ผ่านมาเท่านั้น