อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ แนะสหกรณ์พิจารณาความสมดุลอัตราการจ้างงาน เน้นสร้างความเป็นธรรมและผลประโยชน์สู่สมาชิก นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า ตามมาตรา 4 ในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ระบุความหมายของสหกรณ์ว่า หมายถึง คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกสหกรณ์ โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น เจตนารมณ์ของการตั้งสหกรณ์ มีหลักการสำคัญอยู่ 2 ด้าน ประการแรกคือ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ประการที่สองคือ การช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้น การดำเนินกิจการของสหกรณ์จึงไม่ใช่การทำธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร แต่การทำธุรกิจต่างๆ ของสหกรณ์ ต้องอยู่ภายใต้หลักของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานตามภารกิจในการเข้าไปตรวจสอบบัญชีให้กับสหกรณ์ต่างๆ พบว่ายังมีสหกรณ์หลายแห่งขาดสมดุลของการบริหารจัดการภายใต้หลักการของสหกรณ์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการช่วยเหลือตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันที่ยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ ทั้งนี้ ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์แต่ละแห่ง จะมีคณะกรรมการดำเนินการที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก จำนวน 15 คน และอีกส่วนหนึ่งคือพนักงานและเจ้าหน้าที่ที่สหกรณ์จัดจ้างมา แต่ผลจากการตรวจสอบบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พบว่า มีสหกรณ์จำนวนมากที่มีค่าใช้จ่ายคงที่ โดยเฉพาะด้านค่าจ้างพนักงาน เจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติงานในสหกรณ์ ที่มากกว่ารายได้ของสหกรณ์ และน่าจะเกินกว่าความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานในสหกรณ์นั้นๆ ซึ่งควรจะจัดจ้างตามความจำเป็นของงานอย่างสมเหตุสมผล นายโอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิเคราะห์ความต้องการของกำลังคนเพื่อปฏิบัติงานในแต่ละสหกรณ์นั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความละเอียด ถี่ถ้วน และต้องคำนึงถึงประโยชน์และผลที่จะได้รับจากการจ้างงานในแต่ละครั้งเป็นสำคัญ มิฉะนั้นก็จะเกิดปัญหารายจ่ายคงที่ ซึ่งจะเป็นภาระให้กับสหกรณ์ จนอาจทำให้เกิดข้อสงสัยของสมาชิกได้ว่า ทำไมรายได้สุทธิของสหกรณ์จึงมีน้อยหรือไม่มีเลย นอกจากนั้น อัตราการจ้างงานในแต่ละตำแหน่ง ควรจะได้รับการประเมินในอัตราที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากขนาดของธุรกิจ จำนวนของทุนสหกรณ์ และความหลากหลายของกิจการที่ดำเนินการ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะใช้ประเมินค่าจ้างของพนักงานให้สมประโยชน์ ตัวอย่างเช่น บางสหกรณ์มีรายได้เฉลี่ยต่อปีไม่ถึง 2 ล้านบาท แต่มีการจ้างงานในบางตำแหน่งในอัตราเงินเดือนที่สูงถึงหนึ่งแสนบาทต่อเดือน จึงส่งผลให้รายได้สุทธิของสหกรณ์ที่จะนำมาสู่การปันผลให้กับสมาชิกแทบจะไม่เหลือเลย “การสร้างความสมดุลในสหกรณ์ โดยเฉพาะความสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย เป็นสิ่งที่ผู้บริหารสหกรณ์ต้องคำนึงถึง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สมาชิกของสหกรณ์ทั้งมวล ซึ่งการจ้างพนักงาน เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ เป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่งที่สหกรณ์จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ความจำเป็น และผลประโยชน์ที่สมาชิกทุกคนควรจะได้รับโดยเท่าเทียมและเป็นธรรม ดังนั้น เรื่องของจำนวนการจ้างงานและอัตราค่าจ้าง ทั้ง 2 ส่วนนี้ จะต้องสัมพันธ์กับงานที่ให้ทำ ทุกคนที่ถูกจ้างงานต้องมีงานทำในชั่วโมงการทำงานปกติ จึงจะคุ้มค่ากับการจ้างงานและเป็นธรรมกับสมาชิกทุกคนที่ถือว่าเป็นเจ้าของเงินค่าจ้างตัวจริง” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว