รองศาสตราจารย์ สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึง การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)ว่า อว. เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ดังนั้นการขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพื่อสร้างกำลังคนเพื่อให้นักศึกษาที่ต้องการศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการหลักในการพัฒนาประเทศ สาขาวิชาขาดแคลน สาขาวิชาที่มุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษและเรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสศึกษาต่อ เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาประเทศต่อไป เป็นสิ่งที่ อว. ตระหนักและให้ความสำคัญ ด้วยการที่ อว. มีฐานข้อมูลนิสิตนักศึกษา หลักสูตร โดยรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับการอุดมศึกษา สถาบันอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามภารกิจของกระทรวงฯ และได้เชื่อมโยงกับระบบข้อมูลของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ข้อมูลในลักษณะเดียวกัน เพื่อเอื้อประโยชน์ในการใช้งานอื่นนอกเหนือจากมิติของการอุดมศึกษาอยู่แล้ว ความร่วมมือในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการอุดมศึกษาโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์กับสำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในครั้งนี้จะทำให้ อว. และ กยศ. ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกัน เพื่อร่วมกันส่งเสริมการผลิตกำลังคนในสาขาที่เป็นความต้องการหลักของประเทศ ถือเป็นการดำเนินงานร่วมกันของสองหน่วยงานในการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานภาครัฐผ่านการเชื่อมโยงระบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการระบบการให้บริการของกองทุน กยศ. ให้มีความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และเป็นการสนับสนุนการพัฒนาหน่วยงานสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้ กองทุน ได้ร่วมมือกับกระทรวง อว. ในการขอข้อมูลหรือการเปิดเผยข้อมูลการกู้ยืมเงินและข้อมูลสำเร็จการศึกษา เพื่อเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลหลักสูตร ข้อมูลผลประเมินคุณภาพสถานศึกษา เพื่อทางกองทุนจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาสถานศึกษาที่จะเปิดให้ยื่นกู้ในแต่ละปีการศึกษา โดยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลจะเป็นประโยชน์ในการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมในระดับอุดมศึกษาผ่านระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบดิจิทัล (Digital Student Loan: DSL) ที่จะเกิดขึ้นในปีการศึกษา 2564 โดยกองทุนจะเปิดให้กู้ยืมใน 4 ลักษณะ ได้แก่ 1) นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ 2) นักเรียน นักศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ 3) นักเรียน นักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาที่มุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ 4) นักเรียน นักศึกษาที่เรียนดี เพื่อสร้างความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560