“...เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หน่วยงานพัฒนาต้นน้ำ ทุ่งจ๊อ จ.เชียงใหม่ พ.ศ.2519 การสร้างจิตสำนึกรักและหวงแหนผืนป่าไม้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ “ป่าชุมชน” ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ห่างไกล ... บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) นำโดย นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จึงได้ร่วมกับ กรมป่าไม้ โดย นายประลอง ดำรงค์ไทย ผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัด “ค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม ภาคเหนือ ประจำปี 2560” (รุ่นที่ 20) ภายใต้แนวคิด “เยาวชนกล้ายิ้ม เดินตามรอยพ่อ พอเพียง” ในโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ซึ่งได้น้อมนำศาสตร์พระราชา “ปลูกป่าในใจคน” มาเป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรม ณ จังหวัดเชียงใหม่ บุญทิวา ด่านศมสถิต  (แถวหลัง - ที่ 10 จากซ้าย) ถ่ายภาพกับผู้บริหารและ “เยาวชนกล้ายิ้ม รุ่นที่ 20” นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ค่ายเยาวชนกล้ายิ้มดำเนินการร่วมกับกรมป่าไม้มาเป็นปีที่ 10เพื่อสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสืบสานอุดมการณ์ดูแลรักษาป่าชุมชนต่อจากคนรุ่นปัจจุบัน โดยสนับสนุนให้เยาวชนจากป่าชุมชนในภาคต่างๆ เรียนรู้ เข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของป่าไม้และธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนออกไซด์ที่ดีของโลก ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน “ค่ายเยาวชนกล้ายิ้มปีนี้ บริษัทฯได้น้อมนำ พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ให้เน้นการปลูกต้นไม้ในใจคนมาประยุกต์ใช้เป็นคอนเซ็ปต์ โดยมุ่งเน้นการปลูกความรู้และจุดประกายความคิดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ของชาติให้กับเยาวชนในพื้นที่ป่าชุมชนทั้งประเทศ" นางบุญทิวา กล่าว  เรียนรู้เรื่องสน 3 ใบ บนCanopy Walks ความพิเศษของค่ายเยาวชนกล้ายิ้มในครั้งนี้อยู่ที่ ได้ชวนเยาวชน จำนวน 62 คน จากป่าชุมชนต่างๆ ในภาคเหนือ 8 จังหวัดมาเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำพูน ลำปาง แพร่ และตาก โดยเยาวชนกล้ายิ้มในแต่ละจังหวัดจะได้เรียนรู้ “ศาสตร์พระราชา กับการดูแลสิ่งแวดล้อม” จากพระราชกรณียกิจต่างๆ และเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงพระอัจฉริยภาพด้านพลังงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” สำหรับไฮไลต์ต้องยกให้กับกิจกรรมศึกษาดูงานด้านที่ “สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” ซึ่งนอกจากเยาวชนกล้ายิ้มจะได้ตื่นตาตื่นใจและเรียนรู้ธรรมชาติวิทยาผ่านCanopy Walks ทางเดินเหนือยอดไม้ ระยะทาง 369 เมตรแล้ว ยังได้ทำความรู้จักและทึ่งไปกับพรรณไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์จากหลากหลายระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังได้บูรณการความรู้ต่างๆ ในกิจกรรมภาคปฏิบัติด้วยการจัดสวนในขวดแก้ว (Terrarium) ซึ่งเป็นการจำลองระบบนิเวศไว้ในขวดแก้ว รวมทั้งศึกษา “หลักทรงงาน 23 ข้อ” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่าน “กิจกรรมฐานเยาวชนรวมใจ” เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านต่างๆ ฟิล์ม - เยาวชนกล้ายิ้ม รุ่นที่ 20  ทำความรู้จักกับ “บัวกระด้ง” ฟิล์ม – ด.ญ.จันทร์วลัย รามโพธิ์ ชั้น ม.3 โรงเรียนน้ำรินพิทยาคม จ.พิษณุโลก เล่าว่า หนูมาจากป่าชุมชนบ้านใหม่พนมทอง เมื่อก่อนที่ชุมชนไม่ค่อยมีต้นไม้ แต่ต่อมาผู้ใหญ่ในหมู่บ้านได้ช่วยกันปลูกทำให้ตอนนี้ก็มีต้นไม้เยอะขึ้นมากค่ะ ที่หนูมาเข้าร่วมค่ายในครั้งนี้เพราะอยากได้ความรู้เพื่อนำมาพัฒนาป่าชุมชนที่บ้าน ซึ่งหนูเคยช่วยที่หมู่บ้านทำฝายชะลอน้ำ ปลูกป่า และร่วมกิจกรรมค่ายสิ่งแวดล้อมต่างๆ กิจกรรมที่หนูประทับใจคือฟังการบรรยายศาสตร์พระราชากับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยทราบพระราชประวัติในด้านนี้ ส่วนหลักทรงงานที่หนูคิดว่าจะนำมาใช้คือ “ความพอเพียง” เพราะครอบคลุมทุกเรื่องของชีวิต นอกจากนี้ยังชอบทางเดินเหนือยอดไม้ ซึ่งทำให้เห็นภาพของความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ได้อย่างชัดเจน “ ค่ายเยาวชนกล้ายิ้มเป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ ทำให้หนูและเพื่อนๆได้รับความรู้มากมาย ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 และเรื่องของทรัพยาการธรรมชาติ ความรู้ที่ได้รับในกิจกรรมนี้หนูจะได้นำไปบอกต่อเพื่อนๆที่โรงเรียน และปรับใช้ต่อไป ซึ่งในอนาคตหนูอยากทำงานในแลป เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและปรับปรุงพันธุ์พืช และนำพันธุ์ไม้ต่างๆไปปลูกที่ป่าชุมชนที่บ้านค่ะ” ฟิล์มกล่าว นับตั้งแต่ปี 2551 “โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ได้ริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างเป็นระบบ ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การประกวดป่าชุมชน (ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) 2.ค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม 3.สัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชน โดยยึดหลักการทรงงาน “ระเบิดจากข้างใน” คือสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนเกิดความรัก ความหวงแหน ร่วมกันดูแลป่าไม้ดั่งเป็นสมบัติของชุมชน