ความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าสาหัสอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคท่องเที่ยว หรือแม้แต่ภาคลงทุน ต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันทุกวิถีทาง ยอมปลดคนงาน ขายกิจการ หรือกู้เงินดอกเบี้ยสูง เพื่อให้สามารถผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ ทำให้รัฐบาลต้องประกาศออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้แบ่งเงินเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 6 แสนล้านบาท ใช้เพื่อการเยียวยา ประกอบด้วย 2 โครงการที่สำคัญ ได้แก่ 1.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการอนุมัติวงเงิน ทั้งที่น่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วน และ2. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร 5,000 บาท 3 เดือน และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท เป็นวงเงินที่อนุมัติแล้ว 3.2 แสนล้านบาท กลายเป็นโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เพราะแจกเงินจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็ยังถูกต่อว่ายังช่วยเหลือได้ไม่ทั่วถึง คนเดือดร้อนจริงไม่ได้ คนไม่เดือดร้อนจริงกลับได้เงิน แต่ที่น่าจับตามอง คือ เงินกู้ส่วนที่สอง วงเงิน 4 แสนล้านบาท ใช้ในแผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยมี “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (สศช.) เป็นหัวแรงใหญ่ ในการพิจารณาโครงการ ตามที่หน่วยงานต่างๆ เสนอเข้ามาล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา “ทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการสศช.เผยว่า มีโครงการเสนอมารอบแรกรวมทุกแผนงาน 43,851 ข้อเสนอ วงเงินกว่า 1.36 ล้านล้านบาท โดยสามารถส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้เพื่อพิจารณาได้ทันในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เพื่อนำส่งโครงการที่ผ่านการพิจารณาให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามกำหนดไว้ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 จะเห็นได้ว่าโครงการที่แต่ละหน่วยงานเสนอมารวมวงเงินที่ขอทะลุวงเงินกู้ถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท!!! แถมมีกระแสข่าวแว่ว ๆ ว่า อาจจะหาเงินกู้เพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการ!!! เรื่องนี้ทำให้หน่วยงานต่างๆ ออกมาจับจ้องการใช้เงินกู้ 400,000 ล้านบาทในครั้งนี้ ซึ่ง “สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง” กรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า ทางภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ที่ติดตามเรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า กระบวนการได้มาซึ่งโครงการส่วนใหญ่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการระดมปัญหา ความต้องการ และการเสนอแผนการฟื้นฟู เป็นการทำแผนโดยหน่วยงานราชการ ซึ่งอาจเป็นการหยิบจับโครงการที่เคยมีมาแต่เดิมมาปัดฝุ่นนำเสนอใหม่ ส่งผลให้โครงการที่ถูกนำมาเสนอจำนวนมากไม่สามารถนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมของประชาชนได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ทางภาคประชาชนยังมีข้อเสนอ 3 ข้อหลักด้วยกัน คือ 1. ควรจะต้องมีการปรึกษาหารือและร่วมตัดสินใจทางนโยบาย เพราะเชื่อว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่จะประสบความสำเร็จ รัฐและประชาชนต้องร่วมกันคิด วิเคราะห์ และออกแบบโครงการเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว ,2. การปฏิบัติการโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ กป.อพช.และองค์กรภาคีจะสามารถทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย และสมาชิกของตนได้อย่างได้อิสระ สอดคล้องกับกรอบของสภาพัฒน์ โดยที่โครงการของกป.อพช.และองค์กรภาคี ก็จะเข้าสู่ระบบการตรวจสอบความโปร่งใสในการใช้งบประมาณเช่นเดียวกับโครงการของรัฐ และ3. การร่วมตรวจสอบและประเมินผล รัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน-ภาคประชาสังคมเข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบประเมินผลร่วมกลไกของรัฐ เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้งบประมาณของประเทศ ในการก่อหนี้สาธารณะครั้งนี้จะเกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับ “ดร.มานะ นิมิตรมงคล” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มีมุมมองที่น่าสนใจถึงเรื่องป้องกันคอร์รัปชันเงิน400,000ล้านบาทว่า หลายครั้งเมื่อ “รัฐบาลมี นโยบายหรือประกาศความตั้งใจ แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ไม่มีใครใส่ใจ” หากไม่ติดตาม ไม่ทำเป็นแบบอย่าง หรือไม่กำหนดข้อปฏิบัติให้ชัดลงไปว่า ใครต้องทำอะไร อย่างไร ดังนั้นเพื่อควบคุมให้การใช้เงินครั้งนี้โปร่งใส จึงได้รวบรวมข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาเพิ่มเติมสำหรับ 4 แนวทางที่รัฐบาลประกาศมา ประการแรก “การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส” หัวใจคือ ทำทุกอย่างให้โปร่งใส : สร้าง “เว็บไซต์เฉพาะกิจ” ที่เปิดให้ชาวบ้านมีส่วนรู้เห็นว่า ในตำบลของตนมีโครงการอะไรบ้าง เป็นเงินเท่าไหร่ มีการจ้างงานที่ไหน ด้วยวิธีง่ายๆ คือ ให้ทุกคนใช้โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์เปิดดูข้อมูลในเว็บไซต์ได้อย่างเสรี ไม่ต้องมีรหัสผ่านหรือกรอกข้อมูลบัตรประชาชน โดยในเว็ปไซต์ต้องมีช่องทางร้องเรียนไว้ด้วย และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้เงินที่เป็นอิสระ ที่มีตัวแทนประชาชนร่วมเป็นกรรมการ และทำงานภายใต้การสนับสนุนของ สตง. ประการที่สอง “ตรวจสอบเข้มงวด ลงโทษรุนแรง” : โครงการที่อนุมัติแล้ว ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองโดยบุคคลภายนอกที่มีความรู้ ประสบ การณ์ เพื่อคัดแยกและตั้งประเด็นว่าโครงการใดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดคอร์รัปชัน ในขั้นตอนใด,หน่วยตรวจสอบ ป.ป.ช. สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ป.ป.ท. ควรกำหนดมาตรการเชิงรุก นอกเหนือไปจากมาตรการปกติที่มีอยู่ หรือที่ ศอตช.กำหนด และจ้างบัณฑิตจบใหม่หรือคนตกงานให้ทำหน้าที่ “ติดตามตรวจสอบ” โครงการในแต่ละตำบล ประการที่สาม “การปฏิบัติเมื่อมีการร้องเรียน” : ทุกเบาะแสและข้อร้องเรียนต้องตอบสนองอย่างน้อยสองทางพร้อมกัน ทางหนึ่งให้ สตง. ตรวจสอบเพื่อความรวดเร็วและหยุดยั้งความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้น อีกทางหนึ่ง ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. เข้าตรวจสอบดำเนินคดี สำหรับ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ควรเน้นตรวจสอบประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเรื่องร้องเรียนคดีใหญ่ ซับซ้อน หรือมีข่าวการแทรกแซง ประการที่สี่ ควบคุมและลงโทษคนผิด ด้วยมาตรการทาง “อาญา ปกครอง และวินัย” : ปกติเมื่อมีเหตุร้องเรียน หน่วยงานต้นเรื่องมักรอให้ ป.ป.ช. หรือ สตง. สรุปผลการสอบสวนก่อน ทำให้คดีล่าช้ามาก เกิดความเสียหาย สร้างความเดือดร้อน ผู้คนไม่พอใจ คนโกงยิ่งได้ใจ ดังนั้น การนำ “มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ” มาใช้ จึงเป็นเรื่องเหมาะสม เพราะทำให้หัวหน้าหน่วยงานต้องร่วมรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นในหน่วยงานของตน ขณะที่การลงโทษทางปกครองและวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา สามารถทำได้รวดเร็ว ทำให้คนเกรงกลัวและหยุดยั้งความเสียหายได้ทันท่วงที สุดท้าย!หวังเพียงแต่ว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงเงินกู้400,000 ล้านบาท จะใช้เม็ดเงินอย่างคุ้มค่า และได้ประโยชน์สูงสุดกับเศรษฐกิจ และประชาชน มิเช่นนั้น...สุดท้ายจะกลายเป็นเชื้อเพลิงที่เผาไหม้รัฐบาลได้!!!