หมายเหตุ: ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงความคืบหน้าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ที่หลายฝ่ายต่างให้ความสนใจ และรอความชัดเจนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง รัฐบาล ,กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) -การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง คิดว่ามาจากปัจจัยอะไร การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นประเด็นที่ประชาชน และนักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้งคนที่สนใจการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมีปัจจัยจาก 1.มีรัฐธรรมนูญ 2. พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และ ผู้บริหารท้องถิ่นปี 2562 มีผลมาตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 2562 และมีข่าวที่ออกไปก่อนช่วงโควิด-19 ระบาด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย ให้ข่าวว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2563 ดังนั้นเมื่อหลังโควิด-19 จางก็มีข่าวทวงสัญญาว่าจะเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ในปี 2563 และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ คนที่ดำรงตำแหน่งในการเลือกตั้งท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2556 และมีการปฏิวัติรัฐประหารปี 2557 ซึ่งในพ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นมีบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 142 เป็นการต่อท่ออำนาจให้ผู้บริหารท้องถิ่นทุกแห่งตั้งแต่ปี 2556 จะครบวาระในปี 2560 ต้องเลือกตั้ง แต่เมื่อมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้นจึงงดการเลือกตั้งไป ทำให้คนที่อยู่ในตำแหน่งได้อานิสงส์ อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หรือนายกอบจ. นายกเทศมนตรี จึงเป็นแรงกดดันจากผู้ที่จะเลือกตั้งท้องถิ่นบอกว่าทำไมไม่เลือกตั้งเสียที ดังนั้นพรรคการเมืองก็ขับเคลื่อน -หลายพรรคเตรียมความพร้อมในสนามท้องถิ่นแล้ว แม้แต่พรรคก้าวไกล พรรคหน้าใหม่ ในสภาฯ สำหรับพรรคอื่นๆจะเคลื่อนไหวกันอย่างไรบ้าง ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะตัดสินใจเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทไหน การตัดสินใจเลือกตั้งเป็นอำนาจของ ครม. ที่เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หากมีมติอย่างไรก็ต้องแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ทราบ และรัฐบาลก็ต้องวางโรดแมปการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ง่าย เพราะประเภทท้องถิ่นมี 7,500 กว่าแห่ง แยกประเภท เช่น กทม. 1 แห่ง พัทยา 1 แห่ง อบจ. 76 จังหวัด อบต. 5,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ เทศบาลนครอีก 30 กว่าแห่ง เทศบาลเมืองน่าจะ 100 กว่าแห่ง และยังมีเทศบาลตำบลอีก 2,000 กว่าแห่ง ซึ่งรวมแล้วก็ประมาณ 7 พันกว่าแห่ง ถ้ารัฐบาลประกาศเลือกตั้งครั้งเดียว ผมไม่แน่ใจว่ากกต. จะรับมือไหวหรือไม่ถ้ามีการเลือกตั้งทั้ง 7 พันกว่าแห่ง ความเห็นผมถ้าจะวางโรดแมปการเลือกตั้งต้องประกาศว่าจะเลือกอะไรก่อน เพราะพรรคการเมืองก็จ้องอยู่บางประเภท ไม่ใช่จะส่งหมดทั้ง 7 พันกว่าแห่ง ผมคิดว่านักการเมือง พรรคการเมืองจะเข้าไปเกี่ยวกับการเลือกตั้งคือใน กทม. ถ้าหยิบการเลือกตั้งกทม.มาก่อน พรรคการเมืองทุกพรรคก็จ้องอยู่ เช่นพรรคใหญ่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ถือเป็นสนามเลือกตั้งที่มีการแข่งขันกันสูง ส่วนการเลือกตั้งอบจ. ผมคิดว่าการเมืองจะกระเพื่อมแรงเหมือนกัน เพราะเป็นการเลือกตั้งระดับจังหวัด เช่นจังหวัดนครราชสีมา เชียงใหม่ เชียงราย สงขลา นครศรีธรรมราช ชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ จังหวัดเหล่านี้งบประมาณมาก พรรคการเมืองก็สนใจ ผมคิดว่าทั้งพื้นที่ กทม.กับอบจ. ทำให้การเมืองกระเพื่อมได้ เพราะมีการต่อสู้ทางการเมืองสูง ผมเองกลับมองว่านักการเมืองไม่สนใจอบต.เพราะเป็นพื้นที่ชนบท แต่อาจจะสนใจเฉพาะอบต.ที่อยู่ในเขตเมือง เช่น สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นนทบุรี แต่ถ้าในจังหวัดพื้นที่ไกลๆตำบล หมู่บ้าน ส่วนนายกอบต.ใช้เขตตำบล ซึ่งก็ไม่กระเพื่อมมาก ผมฟันธงว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ถ้ารัฐบาลคิดว่าจะให้แรงกระเพื่อมทางการเมือง และแรงเสียดทานน้อยที่สุด น่าจะเลือกตั้งในอบต.ก่อน 5,000 กว่าแห่ง ซึ่งก็หนัก แม้แต่เทศบาลตำบล ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก แต่การเลือกตั้งกทม. เมืองพัทยา อบจ. เทศบาลนคร พรรคการเมืองมีความสนใจสูง ถ้ารัฐบาลมีความเสียเปรียบ ทำให้กระแสทางการเมืองถูกขยายความ หรือตีความไปในหลายประเด็น รัฐบาลไม่น่าจะเลือกแบบนี้มาเลือกตั้งก่อน จึงฟันธงว่า รัฐบาลน่าจะเลือกอบต.ก่อน แต่คนที่ได้ประโยชน์ต่อจากการอายุของคสช.ให้กับกลุ่มท้องถิ่นที่ได้รับอานิสงส์ต่อท่ออำนาจก็ Happy ไม่ได้สนใจ แต่มีบางกลุ่มมาเรียกร้องว่าอย่าเพิ่งเลือกตั้ง โดยอ้างเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย แต่ควรจะมีการเลือกตั้งเพื่อคลายความกดดันในท้องถิ่น แต่จะเลือกอะไรก่อน ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลก็ต้องเลือกที่ตัวเองกระทบน้อยที่สุด -สนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่น อาจจะไม่ใช่เวทีสำหรับทุกพรรคการเมือง ดังนั้นมองว่ารอบนี้ หน้าตาผู้สมัคร จะเป็นอย่างไร อยู่ที่ประเภทของท้องถิ่น ถ้าเป็นกทม.หลายพรรคการเมืองที่เคยครองอำนาจก็ต้องรักษาฐานอยู่แล้ว เช่น พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้กระทั่งพลังประชารัฐที่มีส.ส.อยู่ในกทม. พรรคเพื่อไทย และผู้สมัครอิสระก็ลงแข่งขัน เพราะในกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นระบุว่าไม่ต้องสังกัดพรรคก็ได้ ซึ่งคนไม่สังกัดพรรคก็ได้รับการเลือกตั้งเยอะ แต่สำหรับ อบจ.ผมคิดว่าพรรคการเมืองส่งสมัครมาตลอด เช่น พื้นที่นี้พรรคเพื่อไทยครอง พื้นที่นี้พรรคประชาธิปัตย์ครอง พื้นที่นี้พรรคภูมิใจไทยครอง และนักการเมืองที่เคยเป็นส.ส.ก็ลงไปสมัครอบจ. ส่วนในอบต.นักการเมืองไม่ค่อยเข้าไปก้าวก่ายเท่าไหร่ น่าจะเป็นคนในพื้นที่มากกว่า แต่อาจจะมีเทศบาลนคร ยกตัวอย่างเช่นในเทศบาลนครหาดใหญ่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายไพร พัฒโน ก็ลาออกไปสมัคร ผมคิดว่าพรรคการเมืองก็สนใจเทศบาลนครด้วย -ล่าสุดยังต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาล ทั้งที่กกต.ยืนยันว่ามีงบฯแล้ว คิดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในปีนี้ตามที่นายกฯบอกจริงหรือไม่ ผมคิดว่าการเลือกตั้ง 2563 ต้องเกิด เพราะรมว.มหาดไทย และนายกฯก็ออกมาสำทับว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลก็ไม่เสีย ถ้าจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นสักประเภทหนึ่ง อาจจะเลือกตั้งอบต. เมืองพัทยา เทศบาลตำบลก็ได้ เพราะทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว และการเลือกตั้งที่เป็นตัวอย่างช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดลำปางเมื่อวันเสาร์ที่ 20 มิ.ย.63 ที่ผ่านมาก็ทำได้ช่วงโควิด เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุผลใดอื่นแล้วที่จะมาเป็นข้ออ้าง ดังนั้นขอให้ครม.มีมติ และส่งให้กกต. เตรียมพร้อม -พรรคพลังท้องถิ่นไท น่าจะมีความพร้อมไม่น้อยกว่าพรรคอื่นเพราะจุดยืน บทบาทของพรรคชัดเจนมาตลอด ความจริงพรรคพลังท้องถิ่นไทเราเป็นพรรคเล็ก งบประมาณก็ไม่มี เป็นพรรคที่ไม่ค่อยมีเงิน ทำการเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต การที่จะเอาเงินไปทุ่มเพื่อให้ชนะ พรรคเราไม่ทำ ผมคิดว่ายิ่งการเลือกตั้งระดับใหญ่ยิ่งใช้เงินมาก เพราะในปัจจุบันการเมืองเป็นเรื่องของการลงทุน ยังเป็นการเมืองที่ใช้เงิน ใช้ทุนทุ่มลงไปในการหาเสียง การประชาสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นเงินยังเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกตั้ง ส่วนพรรคพลังท้องถิ่นไทไม่มีเงินที่จะไปสู้ เราก็มีจุดยืนว่าเราจะช่วยเหลือท้องถิ่นในรูปแบบอื่น 1.อาจพิจารณาแต่ละพื้นที่ เราคงไม่ส่งทั้งหมด พิจารณาเป็นเรื่อง ๆ เช่น พรรคการเมืองต้องให้ความรู้ความเข้าใจพี่น้องประชาชนด้วย นอกจากส่งผู้สมัครแล้ว ต้องเผยแพร่ความคิดความอ่านที่ถูกต้อง จึงคิดว่านโยบายที่คุยกับหัวหน้าพรรค สมาชิกพรรค กรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. ของพรรค เราจะให้ความรู้ความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นว่ามีความสำคัญอย่างไร ให้ความรู้เข้าใจกับผู้สมัครว่ามีคุณสมบัติอย่างไร เพราะพ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นมีข้อกำหนดเยอะแยะไปหมด พรรคเตรียมการไว้จะไปสัมมนาเกี่ยวกับพ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นมีข้อบัญญัติ และกติกาอย่างไร มีข้อห้ามอย่างไร ให้กับผู้บริหารท้องถิ่นที่สนใจ เราเคยคิดจะทำแต่ติดโควิดจึงทำไม่ได้ และ2.พรรคจะไม่บอกตรงๆว่า เราจะส่งใครไปแข่งอาจจะสนับสนุนอยู่ห่าง ๆ อยู่ที่ผู้สมัคร สมาชิกท่านใด หรือเป็นสมาชิกของพรรคมาก่อนก็ต้องช่วยเหลือกัน เช่นบางคนเคยสมัครส.ส.วันหนึ่งขอไปสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่นอีกครั้งหนึ่ง เราก็คงจะช่วยเหลือตรงนั้น แต่เราไม่ประกาศตรง ๆ เช่น กทม.เราคงไม่มีกำลัง หรืออบจ. ก็ไม่มีกำลัง เทศบาลนครเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่ แต่คิดว่าสมาชิกพรรคที่ลงเลือกตั้งให้กับพรรคส่วนใหญ่เป็นนายกอบจ. เราอาจจะสนับสนุนตามสมควรในสิ่งที่พอจะทำได้ รวมทั้งให้กำลังใจ แต่ถ้าจะลงไปแข่งอย่างเต็มที่เหมือนพรรคอื่น ๆอาจจะไม่ใช่นโยบายของพรรค แต่ต้องทำแต่ละที่ แต่ละแห่ง ซึ่งต้องคุยกับพรรคก่อนว่าจะเอาอย่างไรกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งยังไม่ชัดเจน -ความพร้อมของการเลือกตั้งท้องถิ่น คิดว่ารอบนี้จะมีการแจ้งเกิดในสนามสำหรับหน้าใหม่ มากขึ้นหรือไม่ การเลือกตั้งท้องถิ่นมีคนหน้าใหม่อยู่เรื่อยๆ การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมาไม่ยึดติดกับบุคคลมาก คนไหนมีผลงานดี หน่วยก้าน นโยบาย วิสัยทัศน์ดี มียุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นประชาชนก็เลือก ผมคิดว่าคนที่ครองตำแหน่งนายกอบจ.นายกเทศมนตรี ผูกขาดนาน ๆก็ยังมี แต่ทุกวันนี้การเมืองในปัจจุบันมีจุดเปลี่ยน ไม่เหมือนเดิม คนที่เคยผูกขาดก็เปลี่ยน จะมีหน้าใหม่เข้ามา แต่หน้าเก่าจะได้กับคนที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์กับชาวบ้าน เพราะฉะนั้นคนที่ประมาทไม่ทำงาน ชาวบ้านเขามีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น การเมืองยุคใหม่ ผมว่าชาวบ้านเริ่มเข้าใจมากขึ้น เช่นพรรคพลังท้องถิ่นไท จะให้ความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น และคนที่ลงเลือกตั้งท้องถิ่นจะต้องมีวิสัยทัศน์ มียุทธศาสตร์ที่ดีในการพัฒนาท้องถิ่น และมีผลงานเข้าถึงชาวบ้าน ต้องหาคนคิดนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาบริหารท้องถิ่นเยอะ ๆ ผมคิดว่าการบริหารท้องถิ่นต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ในการที่ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการพัฒนาท้องถิ่นที่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจน แก้ปัญหาของชาวบ้านได้ในชีวิตความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน สวัสดิการสังคม หรือแม้กระทั่งทรัพยากรสิ่งแวดล้อม หรือสวัสดิการที่เป็นใหม่ๆตอบโจทย์ปัญหาชุมชนมากขึ้น ดังนั้นนักการเมืองหน้าใหม่ถ้าทำในทิศทางที่ผมว่าจะได้รับการเลือกตั้ง แต่ยังไรก็ตามยังมีเรื่องเงินที่เป็นปัจจัย จริงๆประชาชนก็ลำบาก ไม่มีทางเลือก ผมไม่โทษที่รับเงินจากนักการเมือง แต่อยากบอกประชาชนว่าท่านต้องอดทน ต้องมองถึงภาพรวมว่าประโยชน์ที่จะเลือกเข้ามาจะช่วยทำอะไร จะช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไรในท้องถิ่น จะรักษาทรัพยากรในท้องถิ่นได้มากน้อยแค่ไหน จะคิดอะไรใหม่ๆให้กับท้องถิ่นบ้าง เพราะฉะนั้นเงินที่ไปจ่ายเพื่อการซื้อเสียงขอให้คิดให้ลึกๆ แล้วไม่ต้องรับ อย่าเอาเรื่องพวกนี้มาเป็นข้อกำหนด รับก็ได้แต่ไม่เลือก การเลือกตั้งต้องคิดใหม่โดยให้คิดถึงอนาคตมากกว่า -การเมืองท้องถิ่นเชื่อมโยงกับระดับชาติ จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าพรรครัฐบาลยังไม่พร้อม การเลือกตั้งท้องถิ่นก็ยังจะไม่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น เพราะมีหลายประเภท จะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ที่ผ่านมาเราพูดเป็นเรื่อง ๆเช่นการเลือกตั้งกทม. รัฐบาลก็ต้องคิดแล้วว่าจะปล่อยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เร็วขึ้นไหม ก็ต้องดูความพร้อมของพรรคที่เป็นรัฐบาลพร้อมที่จะส่งผู้สมัคร หรือคะแนนของรัฐบาลที่ทำงานให้พี่น้องประชาชนตอบโจทย์หรือเปล่า หรืออบจ. เพราะฉะนั้นต้องพูดเป็นเรื่อง ๆหรือเป็นประเภท แต่ครั้งนี้ถ้ารัฐบาลกล้าตอบชัด ๆว่า เลือกตั้งแน่นอนหนึ่งประเภท แต่คำถามคือว่าจะเลือกตรงไหนก่อน เป็นประเด็นที่ต้องคอยฟัง คอยติดตามว่ารัฐบาลจะเลือกตรงไหน แต่ผมยังตอบให้ชัดว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเลือกความได้เปรียบ เสียเปรียบขึ้นอยู่กับประเภทท้องถิ่นมากกว่า เพราะท้องถิ่นบางประเภทพรรคการเมืองไม่มีส่วนได้เสียก็ไม่สนใจ อย่างอบต. พรรคไม่ได้สนใจ ที่ผ่านมาอบต.เป็นท้องถิ่นประเภทเดียวที่นักการเมืองสนใจน้อยที่สุด แต่มีผลต่อประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดเหมือนกัน เป็นท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนมาก และเป็นพื้นที่ที่ต้องพัฒนามาก เพราะไม่ใช่เขตเมือง งบประมาณก็น้อย ไม่เหมือนกับกทม. เมืองพัทยา เทศบาลนคร งบประมาณมาก ดังนั้นรัฐบาลจะให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับประเภทของท้องถิ่น -การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะมีความหมาย มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน เพราะนับเป็นการเลือกตั้งในรอบหลายปีที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ แน่นอน คนที่จะเลือกตั้งก็ตื่นตัวประชาสัมพันธ์ตัวเอง เป็นข่าวโดยอัตโนมัติ ผู้บริหารท้องถิ่นจ้องที่จะเลือกตั้ง สมมุติว่ามีการประกาศเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อลงเลือกตั้ง และพรรคการเมืองก็จ้องอยู่ถ้ามีเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อไหร่ เขาก็จะเฟ้นหาผู้สมัครที่เขาสนใจ และการเลือกตั้งถูกกดทับ การปล่อยอิสระ ปล่อยความเป็นประชาธิปไตย เหมือนคืนอำนาจให้กับท้องถิ่น ดังนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นการคืนอำนาจให้กับท้องถิ่น คืนประชาธิปไตยให้ท้องถิ่น จึงเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจมาก ทั้งสื่อ พี่น้องประชาชนที่รอเลือกตั้งได้ปลดปล่อย ดังนั้นในปี 63 ต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน เพราะฉะนั้นคนที่ต่อท่ออำนาจก็ต้องลงสู้เลือกตั้ง แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะประกาศเลือกตั้งตรงไหนก่อน แต่เลือกตั้งต้องเกิดขึ้นแน่ ถ้าโควิดมาอีกรอบรัฐบาลก็มีข้ออ้างไม่เลือกตั้งก็เป็นไปได้ ดังนั้นผมขอภาวนา โควิด-19 อย่ามาอีกรอบ แต่อยู่ที่พี่น้องประชาชนจะดูแล ป้องกันตัวเองใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างอย่าให้การ์ดตก ผมมองโลกในแง่ดีรัฐบาลต้องจัดการเลือกตั้งในปี 63 อย่างน้อยหนึ่งประเภท ไม่มีประเด็นใดที่จะทำให้ไม่มีการเลือกตั้งปี 63