นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ สศส. ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ เอ็มโอยู ด้านการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมเมืองสร้างสรรค์ (ตามแนวทางขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก และตามแนวทางของแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากร วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น อันจะเป็นการส่งสริม และใช้ประโยชน์สำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ โดยจะมีการประสานงานและทำความเข้าใจกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่พิเศษที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของประเทศ ตามกรอบของยูเนสโก
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ทั้ง อพท. และ สศส.จะช่วยส่งเสริมการใช้ศักยภาพของหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองหรือพื้นที่อื่นๆ ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดเมืองสร้างสรรค์และย่านสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดความร่วมมือในครั้งนี้ อีกทั้งจะร่วมกันสนับสนุนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ข่าวสาร และองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองสร้างสรรค์ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง
ทั้งนี้ อพท. ได้วางเป้าหมายดำเนินการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ เพื่อเสนอเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก้ ในเบื้องต้น 5 เมือง โดยเมืองสุโขทัย ได้รับคัดเลือกจากยูเนสโกเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2562 โดยเวลานี้ได้เตรียมความพร้อมและพัฒนาอีก 4 พื้นที่ ได้แก่ 2 เมืองแรก คือ พื้นที่จังหวัดน่าน และพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งเป้ายื่นเสนอต่อยูเนสโกในปีงบประมาณ 2564 และ อีก 2 เมืองต่อไปคือ พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่จังหวัดเชียงรายยื่นเสนอภายในปี 2566
ด้าน นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ สศส. กล่าวว่า ในกรอบการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ของ สศส. นั้น เป็นการต่อยอดความคิดได้เกิดการกระจายทั่วพื้นที่ในแหล่งชุมชน โดยการนำความพร้อมด้านต่างๆ อาทิ ความพร้อมด้านทุนทางวัฒนธรรมนำมาพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เพราะฉะนั้นเมืองสร้างสรรค์จึงถือเป็นเครื่องมือของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของประเทศ ที่จะมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต
โดยความร่วมมือกับ อพท. ครั้งนี้ ทาง สศส. ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงองค์ความรู้ด้านการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นการเตรียมความพร้อมเมืองก่อนสมัครเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสสรค์ ตามกรอบของยูเนสโก และร่วมกันพัฒนาและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเมืองสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การให้บริการประชาชนต่อไป อย่างไรก็ตามการดำเนินงานภายใต้กรอบของ เอ็มโอยู ในครั้งนี้มีระยะเวลานาน 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามโดยในแต่ละปีจะมีการประชุมเพื่อทบทวนและพัฒนาการดำเนินการเพื่อเสริมหรือปรับให้ดียิ่งขึ้น