“นายช่างศิลปกรรม”สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรเผยเครื่องยอดพระเมรุมาศประดับประติมากรรม“พระโพธิสัตว์” สื่อรัชกาลที่ 9 สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต นำตราประจำพระราชวังสวนดุสิตเป็นต้นแบบงานปั้น อาคารมณฑลพิธีใช้หน้าจั่ว-ซุ้มคูหาทรงภควัม คล้ายเรือนแก้วพระพุทธชินราช ความคืบหน้าการจัดสร้างประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างอาคารประกอบพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 60 นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ เปิดเผยว่า การออกแบบพระเมรุมาศได้ยึดหลักแนวคิดไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนาและคติความเชื่อพระมหากษัตริย์เหมือนสมมติเทพ นอกจากเทียบกับพระนารายณ์และพระอินทร์แล้ว พระมหากษัตริย์ทรงเปรียบเหมือนพระโพธิสัตว์ โดยตามคติไตรภูมิหลังเสด็จสวรรคต พระองค์จึงสถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต ชั้นนี้อยู่สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งส่วนเครื่องยอดพระเมรุมาศครั้งนี้ได้ออกแบบให้มีประติมากรรมพระโพธิสัตว์ประดับเหมชั้นที่ 1 เพื่อร่วมส่งเสด็จในหลวง ร.9 สู่สวรรค์ โดยนำต้นแบบมาจากรูปพระโพธิสัตว์ ตราประจำพระราชวังสวนดุสิต ลักษณะประทับนั่งบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวา พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม มีพระธยานิพุทธตรงเศียร ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายแบบเท่าจริง 1:1 เพื่อส่งให้กลุ่มงานประติมากรรมดำเนินการออกแบบปั้น “การสื่อถึงพระโพธิสัตว์ยังมีในงานสถาปัตยกรรมกลุ่มอาคารในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ประกอบด้วยพระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน ทับเกษตร ทิม” นายก่อเกียรติ กล่าว นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ กล่าวอีกว่า ในส่วนงานสถาปัตยกรรมพลับพลาหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) พลับพลายกหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท ออกแบบหน้าจั่วทรงภควัม ลักษณะคล้ายรูปแบบเรือนแก้วพระพุทธชินราชที่งดงาม แต่ตัดทอนรายละเอียดและองค์ประกอบให้มีลักษณะที่เรียบเกลี้ยงขึ้น มีเศียร ไหล่ เข่า เหมือนพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ เช่นเดียวกับซุ้มคูหาของกลุ่มอาคารต่างๆ จะใช้รูปทรงเรือนแก้วพระพุทธชินราช เพื่อลดความแข็งของวัสดุ “การปั้นประติมากรรมพระโพธิสัตว์ประดับพระเมรุมาศ และออกแบบหน้าจั่วทรงภควัมเปรียบได้ดั่งในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสถิตย์อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว ทั้งยังมีซุ้มคูหาทรงเรือนแก้วพระพุทธชินราช ทั้งหมดนี้รังสรรค์เพื่อให้งานสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศมีความกลมกลืนเข้ากันและตรงตามคติโบราณที่สืบทอดกันมา ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังเพื่อประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สื่อพระองค์ไปสถิตสวรรค์ชั้นดุสิต พระเมรุมาศครั้งนี้เช่นกัน” นายก่อเกียรติ นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน กล่าว