ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล หลากวิทยายุทธ์จากหลายคุณครูมีประโยชน์ต่อวิชาชีพของผม "ครูบุษบา” สอนให้ผมมองโลกในแง่ดี ทุกสิ่งมีสองด้านเสมอ ด้านดีด้านร้าย ด้านสวยด้านทราม เราเพียงแค่พยายามมองในด้านที่ดีที่สวยงาม แต่ก็ไม่ประมาทที่จะมองข้ามอีกด้านของสิ่งที่เรามองอยู่นั้น ผมเชื่อตามที่ครูบุษบาสอน “เธอยังมีดีอยู่นะ” ผมจึงตัดใจจากความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้วหันมามอง “สิ่งดีๆ” ในตัวผม ผมอ่านรายละเอียดในกลุ่มคะแนนของการสอบเอนทรานซ์ ก็พบว่าในวิชาที่ผมยังพอ “มีดี” นั้น ซึ่งก็คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา และคณิตศาสตร์ ผมสามารถเลือกสอบเข้าได้ในบางคณะเท่านั้น เช่น นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ผมจึงไปซื้อข้อสอบเก่าย้อนหลังไป 3 ปี จากแผงหนังสือบริเวณหลังมณฑปพระแม่ธรณีบีบมวยผม หัวมุมสนามหลวง ตรงข้ามโรงแรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีหนังสือ “ทุกชนิด” นำมาให้เลือกซื้อที่นั่น ที่ที่ผมต้องถือเป็น “ครู” ที่ควรกตัญญูยิ่งอีกที่หนึ่ง ผมทำข้อสอบของปี 2516 เป็นลำดับแรก พอตรวจคะแนนก็แทบจะหมดหวัง เพราะได้คะแนนต่ำมาก ไม่ถึงครึ่งของคะแนนที่คนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เขาทำได้กัน จึงพยายามทำข้อสอบของปี 2517 โดยการทบทวนดูว่าข้อสอบข้อไหนที่เราตอบผิด แล้วไปอ่านหนังสือในส่วนนั้นเพิ่มเติม ปรากฏว่าคะแนนดีขึ้นมาก แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จนได้มาทำข้อสอบของปี 2518 คะแนนก็อยู่ในกลุ่มของผู้ที่เอนทรานซ์ได้ แล้วผมก็ไปทำตามความคาดหวังที่ผมตั้งขึ้นใหม่ คืออยากเรียนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ผมไปสมัครสอบจึงเลือกเฉพาะที่ผมพอจะสอบเข้าได้ในสถาบันแห่งนี้เท่านั้น ซึ่งก็มีแค่ 3 คณะคือ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ ทั้งที่ผู้สมัครสามารถเลือกได้ถึง 6 คณะ แต่ผมก็ตั้งใจมั่นเลือกแค่ 3 คณะนั้น แล้วก็คิดเอาด้วยความรู้สึกแบบ “ห่ามๆ” ว่า “เป็นอะไรเป็นกัน ชีวิตไม่ใช่จบแค่มหาวิทยาลัย” ผมสอบที่ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วก็ “ปลงตก” ว่านี่เราจะพบกับความผิดหวังดังแต่ก่อนหรือไม่ (ผมเคยมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯตอนที่จบ ม.ศ. 3 แต่พลาด) เพราะพอสอบเสร็จซึ่งใช้เวลา 3 วัน ผมก็รู้สึกว่าตัวเองแย่มากๆ เพราะข้อสอบยากมาก ผมไปสอบกับเพื่อนร่วมโรงเรียนชื่อ “ไอ้เสริฐ” พอสอบเสร็จเราก็ไปหาอะไรกิน ไอ้เสริฐเห็นผมเศร้าๆ ก็เลยพูดชวนขึ้นว่า ไปเที่ยวบ้านมันสักวันสองวันไหม บ้านมันอยู่ที่ท่าม่วง กาญจนบุรีนี่เอง ในอารมณ์นั้นผมไม่คิดอะไรมากก็ตอบตกลงไป เรานั่งรถเมล์ไปสถานีขนส่งสายใต้ที่สามแยกไฟฉาย ซื้อตั๋วโดยสารราคานักเรียน นั่งหลับๆ ตื่นๆ ไปประมาณสัก 3 ชั่วโมงก็มาถึงหน้าวัดวังขนาย อำเภอท่าม่วง (ปัจจุบันวัดนี้มีชื่อเสียงด้านการอาบน้ำแร่รักษาโรคต่างๆ) เราลงรถแล้วเดินไปตามถนนข้างวัด ทะลุหลังวัดเข้าไปในไร่อ้อยและสวนผัก สักครึ่งชั่วโมงก็มาถึงบ้านของไอ้เสริฐ ซึ่งมีสภาพเหมือนบ้านชาวไร่ทั่วไป เป็นโรงเรือนไม้ไผ่ขนาดใหญ่โตพอสมควร ปลูกครอบลงกับพื้นดินที่ยกสูงเล็กน้อย ฝาและประตูเป็นไม้ไผ่ขัดแตะดูมิดชิดแข็งแรง ไม่มีหน้าต่าง แต่ก็มีลมระบายเข้าออกได้รอบทิศตามซอกฝาไม้ไผ่ขัดแตะนั้น หลังคามุงจากแน่นหนา ภายในมีแคร่ทำจากกระดานไม้เนื้อแข็งยกพื้นสูงประมาณแนวหัวเข่า (แบบว่านั่งลงที่พื้นนี้แล้วก็ยกตัวขึ้นนั่งและนอนบนพื้นนั้นได้) กว้างสัก 3 เมตร ยาวสัก 7 – 8 เมตร บนแคร่นี้เป็นที่นอนของคนในบ้าน โดยกางมุ้งนอนเรียงกันไปมุ้งละ 2 คน ซึ่งค่ำวันนั้นมีมุ้งกางอยู่ 4 มุ้ง ซ้ายสุดเป็นมุ้งพ่อแม่ของไอ้เสริฐ ถัดมาเป็นน้องไอ้เสริฐอีก 2 คน มุ้งตรงกลางที่ตรงกับประตูทางเข้าโรงเรือนคือมุ้งของผมกับไอ้เสริฐ ส่วนขวาสุดเป็นมุ้งของย่าไอ้เสริฐ ที่บ้านไร่อ้อยของไอ้เสริฐไฟฟ้ายังเข้ามาไม่ถึง การใช้ไฟจะมีเครื่องปั่นไฟที่ใช้สารพัดประโยชน์ คือในตอนกลางคืนใช้ปั่นไฟให้แสงสว่างก่อนนอน กลางวันใช้สูบน้ำและติดรถขนผัก ที่ผมบรรยายมาอย่างละเอียดนี้ก็เพราะ “ทึ่ง” ในชีวิตของชาวไร่ ที่ “กินง่าย อยู่ง่าย” ซึ่งผมคงจะบรรยายได้ไม่หมดด้วยเนื้อที่เพียงเท่านี้ รุ่งขึ้นผมไปโทรเลขบอกแม่ว่าผมจะอยู่ที่บ้านไอ้เสริฐนี้สักพัก แต่ปรากฏว่าผมอยู่ที่ไร่อ้อยนี้เกือบเดือน เพราะช่วงที่ผมไปเป็นช่วงก่อนสงกรานต์ ได้เที่ยวงานวัดหลายวัดและรำวงสงกรานต์แทบทุกคืน เหตุผลที่อยู่ได้นานก็คือ “ติดสาว” แบบว่า “มนตราเสน่หาสาวไร่อ้อย” แต่ผมก็ไม่ได้อยู่แบบเรื่อยเปื่อย เพราะต้องช่วยงานในไร่อ้อยและสวนผักด้วย ผมตัดอ้อยเป็น ปลูกอ้อยเป็น รดน้ำผักเช้าเย็น และหัดขี่รถมอเตอร์ไซค์เป็นที่นั่น(คนแถวนั้นเรียกว่า “รถเครื่อง”) เสื้อผ้าก็ได้อาศัยของไอ้เสริฐผลัดกันใส่ ดีที่ไม่มีแฟชั่นอะไรต้องแต่งตัวประกวดประชันกัน คืนไหนไม่มีงานวัดก็ซ้อนรถเครื่องเป็นกลุ่มๆ ไปเที่ยวตลาดท่าม่วง สั่งหวานเย็นหรือรวมมิตรมากินถ้วยละหกสลึง เย้าแหย่กันไป ชีวิตวัยรุ่นหนุ่มสาวช่างมีความสุขเหลือเกิน(สมัยนั้นยังไม่มีพวกเด็กแว้น และยาบ้ายังเสพอยู่ในหมู่สิงห์รถบรรทุก) จนกระทั่งต้นเดือนพฤษภาคม แม่โทรเลขมาบอกว่าเขาประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้วนะ ผมจำต้องอำลา “ท่าม่วงที่รัก” อันเป็นช่วงชีวิตที่ “สุดแสนหวาน” นั้นเสียแล้ว ผมมาถึงบ้านที่ประตูน้ำ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วก็รีบไปที่สนามกีฬาจารุเสถียร(ชาวจุฬาฯเรียก “สนามจุ๊บ”)ซึ่งเป็นที่ติดรายชื่อประกาศผลการสอบเอนทรานซ์ วันนั้นเป็นวันท้ายๆ คนเริ่มโหรงเหรง ผมเดินไปที่กระดานของคณะรัฐศาสตร์เป็นจุดแรก แต่ไม่รู้มีอะไรมาบังตา ผมไปเปิดเอาที่หน้าท้ายๆ ของคณะรัฐศาสตร์ และไม่พบรายชื่อของผม ก่อนที่ผมจะเดินไปกระดานของคณะนิติศาสตร์ ผมก็เจอเพื่อนโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์อีกคน เขาบอกว่าเขาติดวิศวะจุฬาฯ แล้วเขายังเปิดดูทุกคณะของจุฬาฯด้วย เห็นชื่อของผมติดคณะรัฐศาสตร์ ผมบอกว่าไม่จริงเพราะผมไปดูมาแล้ว เพื่อนบอกว่าไปดูใหม่ซิ ผมก็เลยไปเปิดดูอีกรอบ ทีนี้ผมหายใจลึกๆ ตั้งสมาธิให้นิ่ง แล้วเปิดตั้งแต่แผ่นแรกทีละหน้า ก็พบชื่อของตัวเองอยู่ในหน้าที่ 5 ลำดับที่ 114 (ตอนนั้นคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รับนิสิตจำนวน 200 คน) ผมกระโดดเข้ากอดเพื่อน แล้วรีบกลับบ้านมาบอกแม่ในทันที วันรุ่งขึ้นผมไปบอกครูบุษบา ครูบอกว่า “นี่แหละสิ่งดีๆ ที่เธอมี”