ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ในปีติแห่งหัวใจเธอ...ขอให้เธอสัมผัสถึงปีติที่ยังอยู่.... จากสวนดอกไม้...ที่บานสะพรั่งของเธอนั้น....” ความงามแห่งจิตวิญญาณ เป็นนิยามสำคัญในการปลูกสร้างความอ่อนโยนที่เบิกบานให้แก่ชีวิต เป็นเกสรแห่งลมหายใจที่เปิดรับละอองไอที่สาดต้องของความเปล่งประกายอันล้ำค่าที่ไม่มีวันจบสิ้นของความเป็นตัวตน เมื่อชีวิตในแต่ละชีวิตได้รู้สึกถึงการปลูกสร้าง เขาและเธอย่อมรู้จักถึงแรงบันดาลใจที่เร้นซ่อนอยู่ในห้วงลึกของจิตใจ รู้จักภาวะแวดล้อมที่โอบประคองความผูกพันแห่งกันและกันด้วยรักและรัก...ยิ่งเมื่อมีการมองออกไป ณ เบื้องหน้า สู่จินตนาการอันไกลโพ้น ชีวิตย่อมต้องรับรู้ถึงเสน่หาอันล้ำลึกและล้ำค่าของความหมาย ที่เป็นกลีบงามของความสุข ความสุขที่เริงร่าอยู่กับเวิ้งของความฝัน ความสุขที่ยั่วล้ออยู่กับแสงฉานของดวงตะวัน ก่อนจะพลิกกลับสู่การหลอมรวมจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ ให้เข้ากับกายที่เปี่ยมเต็มไปด้วยประสบการณ์... เหตุนี้นัยของการปลูกสร้างทางจิตวิญญาณ จึงค่อยๆผสานสัมพันธ์อันล้ำลึกที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีแห่งโลกอันสงบงามของคนสวน...ผู้หว่านโปรยและดูแลเมล็ดพันธุ์อันเป็นสมบัติของโลก ด้วยจิตแห่งใจอันเปิดกว้าง รื่นรมย์ และคงไว้ด้วยมิติแห่งการใคร่ครวญ ดั่งโศลกของการขับเคลื่อนของบทเพลงแห่งการโยกไหวภายใน..ผ่านความทุกข์ด้วยท่วงทำนองแห่งจิตภาวนา...อ้าแขนรับความสุขด้วยอ้อมกอดของความใจ...ปรากฏการณ์เช่นนี้..คือดอกผลของสวนแห่งชีวิต ที่สะพรั่งบานไปด้วยมวลดอกไม้แห่งจิตปัญญาที่ขับขานบทเพลงออกมา..ด้วยคุณค่าแห่งอารมณ์ ซึ่งถักทอกลิ่นอายอันจรุงจิตของชีวิตที่แท้เอาไว้... “เปิดประตูของเธอ...แล้วมองออกไปให้ไกล จากสวนดอกไม้บานสะพรั่งของเธอนั้น เก็บความทรงจำหอมหวานของมวลดอกไม้แห่งร้อยปีก่อน ซึ่งได้อันตรธานไปแล้ว...ในปีติแห่งหัวใจ ขอให้เธอสัมผัสถึงปีติที่ยังอยู่ ซึ่งขับขานบทเพลงในเช้าวันฤดูใบไม้ผลิวันหนึ่ง..ส่งเสียงอันร่าเริงยินดีข้ามศตวรรษมา.” ผมถือเอาบริบทแห่งสัญชาตญาณของการรับรู้ในความรู้สึกข้างต้น เป็นหน้าต่างดอกไม้ทางความคิด ที่เปิดโล่งสู่ทัศนียภาพแห่งความจริงแท้อันตื่นตระการผ่านจิตวิญญาณของ............ “คนสวน” (THE GARDENER)..รวมกวีนิพนธ์ชิ้นเอกของ “รพินทรนาถ ฐากูร” (Rabin-dranath Tagore) มหากวีเอกของโลก ชาวอินเดีย..ที่วาดแต่งกวีนิพนธ์รวม 85 บทของเขา ด้วยแรงบันดลใจอันแจ้งชัดและเจิดจรัส ในนิยามความรักของชายหนุ่มผู้หนึ่งที่มอบตัวตนแห่งตนให้แก่หญิงสาวผู้เป็นความรักด้วยหัวใจ ผ่านรูปรอยแห่งการอุทิศชีวิตสู่การเป็นคนสวนแห่งเธอ....เธอ ผู้ซึ่งจิตใจของเขาได้เทิดทูนให้เป็นดั่งราชินีของโลกแห่งชีวิตอันเป็นนิรันดร์.. “หากเธอรักฉัน..ที่รัก ให้อภัยในความปีติของฉันด้วย เมื่อหัวใจฉันถูกซัดไปโดยกระแสแห่งความสุข อย่ายิ้มเยาะการถอยกรูดอย่างเชี่ยวกรากของฉัน...เมื่อฉันนั่งบนบัลลังก์ และปกครองเธอด้วยเผด็จการแห่งรักของฉัน เมื่อฉันเทิดทูนเธอดุจเทพี อดทนต่อความลำพองของฉันเถิด ที่รัก และให้อภัยในความปีติของฉัน” “ฐากูร”...สรรค์สร้างรูปแห่งแบบสื่อผ่านประพันธกรรมของเขาด้วยความหรูหราและฟุ้งเฟื่องแห่งภาษาในเชิงความหมายที่ซาบซึ้งของกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ (Free Verse)ที่กลั่นออกมาจากอารมณ์อันสุดห้วงจิตใจที่อิ่มเอม และโชนแสงงามของความรู้สึก...ในแต่ละบท...เขาในฐานะแห่งความเป็นกวีได้ระบุถึงเจตจำนงอันอ่อนโยนที่ลึกซึ้งด้านใน อันเป็นผลรวมของความคิด จิตใจ และอารมณ์ ที่แผ่ขยายภาวะแห่งธรรมชาติทั้งในเชิง รูปธรรมและนามธรรมออกมา... “สายลมกรีดร้องกลางกิ่งไผ่โอนเอน...หมู่เมฆวิ่งข้ามผืนฟ้า ดังหนึ่งถอยหนีจากความแพ้พ่าย...เท้าฉันล้า.../สายฟ้าแลบวูบวาบละลานสายตาที่เฝ้ามองเธอ ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าเธอเห็นฉัน ในความมืดที่ซึ่งเธอยืนอยู่...ฉันไม่รู้ว่าเธอคิดถึงฉันอย่างไร...?” ด้วยวิถีจริตที่มุ่งแสดงมิติอันครอบคลุมถึงทุกสิ่ง...ในฐานะแห่งมนตราของชีวิต โดยมีชนบทของรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย เป็นฉากและชีวิตของการจุดประกายสู่การเป็นกวีนิพนธ์ในชุดนี้ ภาพแสดงแห่งธรรมชาติภายในที่ค่อยๆซึมซับสู่การสร้างรูปแบบของสัณฐานภายนอกด้วยความวิจิตร นับเป็นความโดดเด่นสูงสุด อันชวนพินิจพิเคราะห์ และชวน จดจำต่อแก่นแกนแห่งสาระเนื้อหาในเจตจำนงของรวมกวีนิพนธ์ชุดนี้อย่างยิ่ง “นกสีเหลืองขับขานในแมกไม้ ทำให้หัวใจของฉัน เริงระบำด้วยความยินดี ...เราสองอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน และนั่นคือความสุขส่วนหนึ่งของเรา ...ลูกแกะคู่หนึ่งของนางมาเล็มหญ้าใต้ร่มไม้ในสวนเรา ...หากมันหลุดเข้าไปในนาข้าวบาร์เลย์ของเรา ฉันอุ้มมันขึ้นมาในอ้อมแขน...หมู่บ้านของเราชื่อกานจนา และพวกเขาเรียกแม่น้ำเราว่า อันจานา..ชื่อฉันเป็นที่รู้จักทั่วหมู่บ้าน...ชื่อของนางคือ...รันจนา....” นัยแห่งวิถีผูกพันระหว่างและท่ามกลางโลกภายในกับโลกภายนอก ที่ฐากูร ได้ร่ำระบายออกมาเป็นสีสัน แห่งธรรมชาติของการดำรงอยู่ แสดงถึงความโยงใยที่แนบเนาของชีวิตต่อชีวิต ธรรมชาติของสรรพสิ่งล้วนไหวเคลื่อนไปด้วยความหมายเฉพาะ เงียบงัน แต่ตกอยู่ภายใต้ความสงบงาม ความสุขจากความเข้าใจคือราคาแห่งชีวิต เป็นสิ่งที่ดีงาม ซึ่งอุบัติขึ้นด้วยข้อสังเกตแห่งการเสริมส่งทางปัญญา กระทั่งเกิดเป็นมิติทางจิตวิญญาณที่สนองรับกับสัมพันธภาพที่ยิ่งใหญ่และอยู่เหนือเหตุผลของเหตุผลอันสืบต่อเชื่อมโยงระหว่างกัน... “ฉันกุมมือนาง แล้วกอดนางแนบอก/ ฉันพยายามเติมอ้อมแขนด้วยความน่ารักของนาง ปล้นรอยยิ้มหวานของนางด้วยจุมพิต ดื่มการปรายตาดำขลับของนางด้วยดวงตาของฉัน.../อาห์...แต่มันอยู่หนใด?...ใครฤาจะกรองเอาสีฟ้า จากผืนฟ้าได้.?” ภาษาสื่อสารแห่งกวีนิพนธ์ของ..ฐากูร .ในเรื่องราวของแต่ละบทตอน ล้วนแสดงถึงการซ้อนทับแห่งปริศนาทางความรู้สึก ที่ถูกแปรความ และแปลความออกมา จากความยอกย้อนด้านใน...หลายๆขณะที่สัญญะต่างๆถูกแทนค่าด้วยภาพแสดงทางอารมณ์ ที่ขยายผ่านมโนภาพไปอย่างละเมียดละไม.. “ดวงตาถามไถ่ของเธอเศร้า มันใคร่รู้ความหมายของฉัน ดังดวงเดือนอยากหยั่งทะเลลึก.../ฉันได้เปลือยชีวิตฉันต่อดวงตาเธอจากปลายสู่ปลาย ไม่มีสิ่งใด ซ่อนเร้นหรือปิดบัง...นั่นเองที่เธอไม่รู้จักฉัน!” มโนภาพแห่งปริศนาที่มีความนัยแห่งภาษาใจแฝงอยู่คือ คำยืนยันถึงความงามในโลกของอุดมคติ เป็นรูปแห่งแบบของความงาม(From of Beauty) ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง..ฐากูร..ไม่ได้สร้างงานของเขาในลักษณะของการลอกเลียนแบบมาจากความงามในโลกของอุดมคติ อันเปรียบถึงความงามในโลกแห่งประสาทสัมผัสที่ไม่มีความเที่ยงแท้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความงามที่สื่อผ่านภาษาใจของฐากูร..เป็นความงามเที่ยงแท้สมบูรณ์ในนามของโลกแห่งประสาทสัมผัส ซึ่งคนเราทุกคนจะเข้าถึงความงามอันมีค่าดั่งนี้ได้...ก็ด้วยการคิดและกระบวนการคิดอันเบิกบานและแยบยล เพียงเท่านั้น... “เหนือการรังสรรค์แห่งความงามของเธอ มีหมอกแห่งน้ำตา ฉันจะรินบทเพลงของฉันเข้าสู่หัวใจไร้เสียงของเธอ และความรักของฉันจักเข้าสู่ความรักของเธอ.../..ฉันจะบูชาเธอด้วยแรงงาน ฉันได้เห็นดวงหน้าอ่อนโยนของเธอ และรักฝุ่นธุลีอันหมองเศร้าของเธอ...แม่ธรณี” ฐากูร..นำเราดำดิ่งลงไปสู่โลกแห่งความหมายอันเป็นเวิ้งรู้ที่กว้างขวางของเขา มันคือ พื้นที่แห่งการแสวงหาการรับรู้ ที่เต็มไปด้วยความงามและความหมายที่ไม่ได้จำกัดกรอบ อยู่ในวงกรอบที่จำกัด แม้จุดหมายปลายทางโดยองค์รวมของกวีนิพนธ์จะมุ่งเน้นถึงความรัก ในแง่มุมต่างๆ แต่มันก็ไม่ได้หยุดอยู่บนสายทางที่คับแคบของความเป็นเฉพาะตัว ของคนสวน ผู้สถาปนาชีวิตขึ้นมาด้วยทัศนคติแห่งวิสัยอันชวนใคร่ครวญ.. แน่นอนว่า.ความงามแห่งจิตที่ไหลผ่านความงามของกวีนิพนธ์ในลักษณะนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับใจของผู้ที่รับรู้ในเงื่อนไขแห่งความรู้สึกนั้นๆ เพียงเท่านั้น.. “...คือหัวใจฉันที่เต้นแรง...ฉันไม่รู้ว่าจะทำให้มันเงียบลงได้อย่างไร/..เมื่อคนรักฉันมา และนั่งลงข้างฉัน เมื่อร่างฉันสั่นเทิ้ม และเปลือกตาหลุบลง /...ราตรียิ่งมืดลมพัดตะเกียงดับ เมฆคลี่ผ้าคลุมเหนือดวงดาว../คืออัญมณีที่หน้าอกฉันเองที่ส่องและให้แสง...ฉันไม่รู้จะซ่อนมันอย่างไร?” ผมถือเอากวีนิพนธ์ที่ถูกปลูกสร้างขึ้นด้วยความงามทางความรู้สึกเหล่านี้ เป็นแบบอย่างของความงามทางความรู้..เป็นแรงดลใจแห่งการเติบโตในทางจิตวิญญาณที่ไม่อาจปลอมแปลงขึ้นจากความจริงลวงใดๆได้...กวีนิพนธ์ถือเป็นศิลปะ ...สาระเนื้อหาที่ก่อเกิดขึ้นจากความเป็นสามัญของชีวิต คือการแพร่ขยายพืชพันธุ์แห่งความรู้สึก และปัญญาญาณออกไปสู่เขตแดนของการรับรู้ในความสุข.เป็นความสุขในประสาทสัมผัส เป็นความงามชั้นยอดที่ประกาศความงามแห่งตน ด้วยละอองไอแห่งความหมายในเชิงประจักษ์ จากความเชื่อมั่นศรัทธาตรงส่วนนี้... “คนสวน” ในการปลูกสร้างซ้อนการปลูกสร้างแห่งจิตวิญญาณของฐากูร จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาพผ่านทางความรู้สึก หากแต่ มันคือผลลัพธ์ของจิตใจในการหยั่งรู้ ต่อการรังสรรค์ศิลปะแห่งความรู้สึกออกมา เป็นท่วงทำนองแห่งการรับรู้ของจริต จนกลายเป็นความเพลิดเพลินที่ปรากฏ “เพราะฤดูใบไม้ผลิ กลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า.../เดือนเพ็ญจากลาแล้วมาเยือนอีกครั้ง...มวลดอกไม้หวนคืนมาเบ่งบานบนกิ่งปีแล้วปีเล่า/...เป็นไปได้ว่า ฉันจากลาเพียงเพื่อกลับมาหาเธออีกครา...” ว่ากันว่า..ความงามของกวีนิพนธ์หรือศิลปะทุกๆแขนงไม่ได้เกิดความหรูหราขึ้นมา ด้วยองค์ประกอบอันหลากหลายท่วมท้นของการปรุงแต่ง แต่แท้จริงแล้ว มันเริ่มต้นมาจากความง่ายงาม และเป็นสามัญของสิ่งที่อยู่รอบใจและกาย อันหยั่งรู้ และต้องรู้สึกสัมผัส ...อันต้องคิดคำนึงถึงและใคร่ครวญ...สู่การแปรค่าและแปลค่า ให้เป็นสมบัติแห่งจิตวิญญาณในโลกแห่งชีวิตให้จงได้... “หากมันเป็นเพียงครู่ยามแห่งความยินดี มันจะบานเป็นรอยยิ้มง่ายๆ เธอจะได้เห็น และอ่านมันในครู่เดียว/...แต่หากมันเป็นความเจ็บปวด มันจะละลายในหยาดน้ำตาใส สะท้อนความลับ ด้านในสุดโดยไร้ถ้อยคำ... “วิภาดา กิตติโกวิท”..นักแปลผู้เลื่องชื่อแปลถ้อยคำแห่งรวมกวีนิพนธ์ชุดนี้ด้วยภาษากวีที่งดงามและสื่อถึงผัสสะที่สดับอารมณ์ความรู้สึกยิ่ง..เธอเปรียบดั่งผู้ขยายหน่อเชื้อแห่งพืชพันธุ์ของกวีนิพนธ์ที่คนสวนแห่งชีวิต..ได้ปลูกสร้างไว้ด้วยจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของเขา...กระทั่งมาสู่การกลายเป็นศรัทธาทางศิลปะและความทรงจำ ที่ธำรงอยู่เหนือกาลเวลาใดๆ... เมื่อนับเนื่องมาถึงวันนี้.. “รพินทรนาถ ฐากูร” จะมีอายุล่วงเข้าสู่ 160 ปีแล้ว...เขาได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี ค.ศ.1913 และเป็นที่ทราบกันดีว่า เขาเป็นนักเขียนที่ไม่ใช่ชาวยุโรปและอเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้...และแม้ว่าเขาจะรังสรรค์กวีนิพนธ์ทั้งหมด ในนามแห่ง “คนสวน” ในห้วงขณะเวลาแห่งชีวิตที่ต้องสูญเสียผู้เป็นที่รักในครอบครัว...ไม่ว่าจะเป็นบิดา มารดา บุตรสาว และบุตรชาย..แต่ด้วยดวงจิตอันปลดปลงที่เต็มไปด้วยความเข้มแข็งแห่งการตระหนักรู้ที่ปล่อยวาง เขาก็สามารถที่จะกระซิบบอกนัยแห่งสาระเนื้อหาของชีวิตต่อผู้คนของโลก ด้วยบทบาทของ “คนสวน” ที่เปี่ยมเต็มไปด้วยสำนึกรู้แห่งความหมายของความเป็นชีวิตที่แท้...ทั้งหมดนี้คือภาพแสดงแห่งการยกย่องนับถือต่อภาวะแห่งจิตวิญญาณของเขา ในนามของ “คุรุเทพ”...ในนามแห่งมหากวี ผู้ปลูกสร้างความงดงามแห่งจิตด้วยอุ้งมือแห่งชีวิตของความรัก....อันยืนยงนิรันดร์... “ขอเพียงให้ฉันได้โผบินในฟากฟ้านั้น ในความไพศาลเวิ้งว้างของมัน...ขอเพียงให้ฉันได้แหวกหมู่เมฆ..และสยายปีกในแสงตะวันของมันเถิด....”