บทความพิเศษ/วัฒนรักษ์: “สุนทรภู่...ครูกวีที่เก็บกด” (1) นับแต่องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องครูกลอนสุนทรภู่ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล เมื่อ พ.ศ. 2529 ส่งผลให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของกวีท่านนี้ ได้เป็น “วันสุนทรภู่” โดยเฉพาะในสถานศึกษาและองค์กรต่างๆ มักจะมีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากผลงานของสุนทรภู่กันอย่างต่อเนื่องตลอดมา แม้ว่ายุคสมัยของสุนทรภู่จะผ่านมากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม แต่ผลงานและความน่าสนใจในชีวิตของสุนทรภู่ยังไม่ตายด้วยยังคงเป็นที่กล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพราะสุนทรภู่นอกจากจะเป็นทั้งกวี นักคิด นักปรัชญาและนักอักษรศาสตร์แล้ว ท่านยังมีเรื่องราวอีกหลายแง่มุมที่ยังคงทำให้คนรุ่นหลังได้พิศวงสงสัยและยังคงหาหลักฐานมาถกเถียงกันอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นประวัติส่วนตัว บุคลิกภาพ อุปนิสัย ตลอดจนผลงานที่ได้สร้างสรรค์ไว้ จึงทำให้การศึกษาเรื่องราวของท่านก็ยังคงมีมาอย่างไม่ขาดสาย ผมมีโอกาสได้อ่านประวัติและผลงานของท่านหลายครั้ง เมื่อยิ่งอ่านก็ยิ่งมีข้อสงสัยว่ากวีท่านนี้ต้องมีความเก็บกดอะไรบางอย่างอยู่ในจิตใจ เพราะมีสาระหลายต่อหลายประการในผลงานของท่านที่สะท้อนให้เห็นปมของความเก็บกดเหล่านั้น กอปรกับได้อ่านบทความเชิงจิตวิทยาเรื่องสุนทรภู่ ของคุณบุญสวย เชิดเกียรติกุล ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าความสงสัยเรื่องของปมอันเกิดจากความเก็บกดที่สะท้อนผ่านประวัติและผลงานของกวีเอกท่านนี้ ไม่ใช่มีแต่ผมคนเดียวแล้ว เริ่มตั้งแต่การโต้แย้งของนักวิชาการการเกี่ยวกับตั้งฉายาให้สุนทรภู่หรือพระสุนทรโวหารว่า “อาลักษณ์ขี้เมา” ซึ่งต่อมา นับแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มาจนถึงนายฉันท์ ขำวิไล และนักวิชาการชั้นหลังอีกไม่น้อยเห็นพ้องว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย โดยต่างก็มีเหตุผลยกมาอ้างต่างๆ กันไป ซึ่งก็ดูเหมือนว่ากระแสที่ว่านี้จะแรงพอที่จะลบฉายาอันไม่น่าจะเป็นนิสัยของมหากวีที่ชาวโลกยกย่องได้ หากมองทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดาของแต่ละคน ผมยังคงเชื่อว่าคนขี้เมาสามารถเป็นกวีที่มีความสามารถได้ หรืออาจจะมีกวีบางคนที่ไม่อาจจะสร้างผลงานอย่างลื่นไหลต่อเนื่องได้ถ้าไม่เมา แม้ผมจะเกิดไม่ทันท่านสุนทรภู่ แต่ตัวอย่างกวีขี้เมาที่มีชีวิตซึ่งผมทันได้พบเห็นนั้นมีอยู่จริง แถมเป็นกวีแต่งฉันท์ซึ่งยากกว่าการแต่งกลอน อีกทั้งผลงานของท่านก็มีคุณภาพถึงขนาดเคยนำมาใช้เป็นแบบเรียนอยู่ช่วงหนึ่งเสียด้วย ผมไม่ได้ปรักปรำสุนทรภู่เองแบบเลื่อนลอย เพราะในประวิติเมื่อแต่งงานกับแม่จันก็ทะเลาะกันด้วยเรื่องดื่มเหล้า ติดคุกครั้งที่ 2 ก็เพราะเมา ถูกถอดบรรดาศักดิ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็เพราะเหตุที่มึนเมา และเมื่อเดินทางผ่านบางยี่ขัน ท่านก็กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองเองว่า “...เห็นโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ พระสรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย ไม่กล้ากรายแกล้งเมินก็เกินไป...” ความที่ว่า “ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย” นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิสัยของสุนทรภู่นั้น เวลาแต่งกลอนถ้าได้สุราเป็นเชื้ออยู่จะออกกลอนคล่องชนิดที่ทันบอกเสมียนสองคนเขียนต่อกันทีเดียว เมื่อพูดในมุมกลับกันก็เท่ากับว่า หากว่าวันใดไม่ “ถึงสุรา” ก็อาจทำให้สมองไม่แล่นก็เป็นได้ อีกประเด็นหนึ่งที่สุนทรภู่เล่าความฝันเล่าเกี่ยวกับความฝันของท่านไว้ในเรื่องรำพันพิลาปว่า “...สุนทรทำคำประดิษฐ์นิมิตฝัน พึ่งพบเห็นเป็นวิบัติมหัศจรรย์ จึงจดวันเวลาด้วยอาวรณ์.....เงียบสงัดวัดวาในราตรี เสียงเป็ดผีหวีหวีดจังหรีดเสียง หริ่งหริ่งเรื่อยเฉื่อยชื่นสะอื้นอก สำเนียงนกแสกแถกแสกแสกเสียง เสียงแมงมุมอุ้มไข่มาใต้เตียง ตีอกเพียงผึงผึงตะลึงฟัง ฝ่ายฝูงหนูมูสิกกิกกิกร้อง เสียวสยองยามยินถวิลหวัง อนึ่งผึ้งซึ่งมาทำประจำรัง ริมบานบังร้องสยองเย็น ..... ฝันว่าว่ายสายชะเลอยู่เอกา สิ้นกำลังยังมีนารีรุ่น รูปเหมือนหุ่นเหาะเร่ร่อนเวหา ช่วยจูงไปไว้ที่วัดได้ทัศนา พระศิลาขาวล้ำดังสำลี ทั้งพระทองสององค์ล้วนทรงเครื่อง แลเลื่อมเหลืองเรืองจำรัสรัศมี พอเสียงแซ่แลหาเห็นนารี ล้วนสอดสีสาวน้อยนับร้อยพัน...” ความฝันลักษณะนี้ นักจิตวิทยาอย่างคุณบุญสวย เชิดเกียรติกุล ให้เป็นความรู้ไว้น่าสนใจมาก เพราะการฝันเห็นสัตว์และแมลงต่างๆ และมีนางฟ้ามาร่ายรำ จากงานวิจัยจะพบได้ในพวกคนไข้ติดเหล้า (onirism, zoopsia และ sex fantasy) ปัจจัยนี้ยิ่งทำให้คิดไปว่าระหว่างที่เขียนเรื่องรำพันพิลาปขณะบวชอยู่วัดเทพธิดานี้ พระสุนทรภู่อาจถึงขั้นป่วยเป็นโรคพิษสุราเสียด้วยซ้ำ ยังมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับปมด้อยของสุนทรภู่และปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้สุนทรภู่มีประสบการณ์ที่เข้มข้นด้วยอารมณ์ที่ต้องการหาทางออก จนเป็นพลังผลักดันที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์อีกหลายประการ ว่ากันต่อสัปดาห์หน้า เรียบเรียง วัฒนรักษ์ [email protected] พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม เปิดให้ชมทุกวัน