"ไพบูลย์"นั่งหัวโต๊ะกมธ.งบโควิด-19 นัดแรกสั่งกมธ.แนะนำตัว เจอฝ่ายค้าน-รบ.วอร์คเอ้าท์ ด้าน “กนก" ย้ำกรอบงาน ไม่ใช่วิจารณ์อย่างเดียว ขณะที่ "พิธา" เสนอขยายเวลาทำงานมากกว่า 120 วัน เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลังจากมีมติเลือกนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ว่า ตนจะเสนอแนวทาง 3 ข้อ คือ 1.นอกจากงบประมาณจาก พ.ร.ก. 3 ฉบับแล้ว ต้องมีการตรวจสอบงบกลางที่ได้รับการโอนจากงบประมาณปี 2563 ด้วย 2.นอกจากการตรวจสอบงบประมาณแล้ว ต้องติดตามตรวจสอบมาตรการด้วย เช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาตรการหลายอย่างที่ยังไม่คลายล๊อค และ 3.การทำงานของ กมธ.ควรมีอายุมากกว่า 120 วัน เนื่องจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินถึงสิ้นเดือนก.ย.2564 เมื่อถามว่านายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ. นายพิธา กล่าวว่า ไม่ว่าประธานจะเป็นใคร ทุกอย่างมีกติกามีข้อบังคับ ถ้าฝ่ายค้านเป็นประธานจะสง่างามกว่าเพื่อให้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แต่ฝ่ายค้านก็ต้องทำงานให้หนักมากขึ้นในการตรวจสอบ ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ด้วย เมื่อถามน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊กตอบโต้กรณีวิจารณ์เกี่ยวกับการปรับครม.ในพรรคพลังประชารัฐนั้น นายพิธา กล่าวว่า การแสดงความเห็นในฐานะเป็นผู้แทนประชาชน เพราะสิ่งที่ประชาชนเห็นเพียงแค่การรักษาอำนาจมากกว่าการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งตนก็ทำหน้าที่ของตน ส่วนน.ส.ปารีณาก็คงทำหน้าที่ของน.ส.ปารีณา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมกมธ.มีการถกเถียงกันเล็กน้อยระหว่างนายไพบูลย์ ที่ให้กรรมาธิการแต่ละคนแนะนำตัว โดยนายอดิศร เพียงเกษ กรรมาธิการ จากพรรคเพื่อไทย และนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ทักท้วงว่าเสียเวลา แต่นายไพบูลย์ให้แนะนำตัวต่อไป ขณะที่นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานกมธ. เสนอกรอบการทำงาน เรื่องสำคัญ 3 เรื่องคือ 1. ต้องพิจารณาเกณฑ์การอนุมัติใช้เงินใน พ.ร.ก.แต่ละฉบับ เพื่อให้โครงการเป็นประโยชน์ต่อประชาชน 2.ต้องมีการประเมินผลที่ชัดเจน เกิดประโยชน์จริงหรือตรงกับกลุ่มคนที่ควรจะได้รับหรือไม่ ซึ่งระบบราชการไทยมักจะไม่มีการประเมินผล มีแต่การใช้งบประมาณให้หมด และต้องตอบให้ได้ว่าเป้าหมายคืออะไร และ 3. การพิจารณาโครงการต่างๆ กมธ.ควรมีคำแนะนำ ไม่ใช่แค่วิจารณ์อย่างเดียว