ด้วยมาตรการที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเยียวยาด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตั้งแต่ช่วยวงเงินสินเชื่อ ยกเว้นดอกเบี้ย ชะลอการส่งคืนเงินต้น การผ่อนปรนเรื่องมาตรการภาษี อัดฉีดให้หน่วยงานท้องถิ่นจัดประชุม เดินทางในประเทศ ล่าสุดมีมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการคลังเสนอเข้าที่ประชุมให้จัดทำโครงการมอบส่วนลดเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563 ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้จะเป็นทางรอดท่องเที่ยวไทยในยุค New Normal หรือเป็นเพียงทางเลือกในสภาวะที่ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่ในวิถีที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น
สร้างความมั่นใจในการเดินทาง
โดย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้ง 3 แพ็คเกจที่ ครม.เห็นชอบเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ คือ 1.แพ็คเกจกำลังใจ เพื่อตอบแทนบุคลกรแนวหน้าทางด้านสาธารณสุข 2.แพ็คเกจเที่ยวปันสุข กระตุ้นให้ประชาชนออกเดินทางด้วยมอบค่าที่พัก 40% รวมถึงแพ็คเกจ 3. เราไปเที่ยวกัน ที่ทางรัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรมที่พักในลักษณะร่วมจ่าย ซึ่งน่าจะช่วยทำให้เกิดการเดินทาง และมีการจับจ่ายใช้สอยเกิดขึ้นทั่วประเทศในช่วงเวลาที่ได้กำหนดขึ้นดังกล่าวไม่มากก็น้อย
อีกทั้ง นายพิพัฒน์ ยังกล่าวถึง การสร้างความมั่นใจของการเปิดท่องเที่ยวในกลุ่มชาวต่างชาติ ด้วยการจับคู่ประเทศ (travel bubble) ทราเวลบับเบิ้ล ที่ปลอดจากโรคโควิด-19 นั้น ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ร่วมทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ในการหาข้อสรุปถึงแนวทางการจับคู่ประเทศ ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้โดยเร็ว เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
วางแผนฟื้นฟูท่องเที่ยวในประเทศ
อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของคนในวงการท่องเที่ยวนั้น จะต้องเริ่มจากการเดินทางในประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ทาง ททท.ได้สนับสนุนให้มีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อสร้างบรรยากาศทางการท่องเที่ยว โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ผ่านการสนับสนุนในกลุ่มธุรกิจโรงแรม เอเย่นต์ท่องเที่ยว และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการท่องเที่ยวด้านอื่น ๆ ด้วย โดยได้วางแผนสำหรับการฟื้นฟูการท่องเที่ยวเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย 2 ข้อ คือ 1.สร้างงาน รายได้และสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนผ่านการท่องเที่ยวภายในประเทศ 2.สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีอัตราการจับจ่ายใช้สอยสูง กระตุ้นจำนวนและความถี่ในการเดินทางและสร้างสมดุลใหม่ให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ขณะที่แผนการเตรียมความพร้อมในเรื่องของ travel bubble สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งคาดว่า น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ นั้นทาง ททท.ได้เร่งสร้างมาตรฐานถึงความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยด้านสาธารณสุข และสุขอนามัยสูงสุดในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและเดินทางกลับไปอย่างปลอดภัยห่างไกลจากการติดเชื้อใหม่
ทางรอดของธุรกิจโรงแรมในไทย
ส่วนทางด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักนั้น ทาง ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ทางรอดของธุรกิจโรงแรมคือ ต้องปรับตัวใน 2 มิติสำคัญ ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการให้บริการ ทั้งการทำความสะอาด และการบริการแบบไร้การสัมผัส ติดตั้งเทคโนโลยีภายในโรงแรมเพื่อลดการสัมผัสใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งทำให้ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีการบริการมากกว่าแต่ก่อน 2.มีความยืดหยุ่นในเรื่องของรายได้ ด้วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ผู้เข้าพักชาวไทยมากขึ้น ไม่พึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยให้ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ผิดปกติในอนาคตอีกครั้ง เพิ่มรายได้จากบริการอื่นๆ ทั้ง สปา ฟิตเนต ห้องอาหาร ห้องประชุม ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินงานของโรงแรมมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากห้องพักเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ ดร.ยรรยง ยังกล่าวต่อว่า หลังจากโควิด-19 จบลง ประเทศไทยจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับมาเยือนไทยอีก เนื่องจากมีชื่อเสียงในด้าน Medical & Wellness Tourism ถือเป็นโอกาสในด้านการแพทย์ การรักษาฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม รวมไปถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางด้วยตัวเอง หรือ FIT (Free and Independent Traveler) จะเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาเที่ยวหลังโควิด เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะใช้วิกฤตินี้สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น
ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
ด้าน นายโชติช่วง ศูรางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหนุ่มสาวทัวร์ จำกัด กล่าวว่า การท่องเที่ยวหลังโควิด-19 คลี่คลายการเดินทางภายในประเทศระยะแรกๆ อาจจะยังไม่สะดวก เนื่องจากสายการบินยังมีเที่ยวบินไม่มากนัก เพราะยังอยู่บนพื้นฐานของมาตรการป้องกันความปลอดภัยในการแพร่ระบาด รวมทั้งบางคนยังไม่มีความมั่นใจถึงความปลอดภัยในการเดินทางมากนัก ขณะเดียวกันการเดินทางข้ามประเทศบางประเทศยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน โดยเฉพาะในฝั่งประเทศแถบยุโรป ส่วนประเทศในแถบเอเชีย อย่างประเทศจีนถ้าเปรียบเทียบรูปแบบการใช้จ่ายน่าจะสามารถกระจายรายได้ให้กับประเทศไทยได้มากกว่า
ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวมีจำกัด การเดินทางที่ไม่สะดวกจึงอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น แต่ถ้าวิเคราะห์ในมุมของการท่องเที่ยวในรูปแบบวิถีใหม่ ที่พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป ธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก ซึ่งเป็นบูติครีสอร์ทที่มีเพียงไม่กี่ห้องอาจจะได้รับความนิยมมากกว่าโรงแรมขนาดใหญ่ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่แพงก็ตาม เพราะการท่องเที่ยวครั้งต่อไป คือ ต้องการประสบการณ์การพักผ่อนที่แตกต่างออกไป และหลากหลายมากขึ้นมากกว่า