นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.กล่าวว่า ภายหลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านไป พฤติกรรมการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปจากกลุ่มใหญ่จะลดลงเป็นกลุ่มขนาดเล็กเพื่อความปลอดภัย ซึ่งกลุ่มแรกที่จะเดินทาง คือ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและผจญภัย และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งทาง อพท. มี 81 ชุมชน ที่พัฒนาและพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แบ่งเป็น 14 ชุมชนในพื้นที่พิเศษ และอีก 67 ชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 8 คลัสเตอร์ โดยได้รวม 4 ชุมชนในพื้นที่คลองดำเนินสะดวก 6 ชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 6 ชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ซึ่งในเดือนกรกฎาคมนี้ จะร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประกอบไปด้วย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอาเซียน (ASEANTA) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) และสมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (TRTA) จัดส่งบุคลากรลงพื้นที่พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวให้กับ 40 ชุมชน ในพื้นที่พิเศษและในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวอย่างน้อย 20 เส้นทาง โดยโครงการดังกล่าว ยังมีการพัฒนานักสื่อความหมายท้องถิ่นด้วยการใช้มัคคุเทศก์อาชีพ มาเป็นวิทยากรให้การอบรมแก่ชุมชนอีกด้วย โดย นายทวีพงษ์ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญมี 2 ประเด็น คือ เพิ่มศักยภาพให้กับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีรายได้จากการเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการตลาดท่องเที่ยว และความเชี่ยวชาญในการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว และเมื่อสถานการณ์ท่องเที่ยวกลับสู่ภาวะปกติผู้ที่เป็นวิทยากร จะนำเส้นทางที่ตัวเองได้ร่วมกับชุมชนพัฒนาขึ้นมาในครั้งนี้ ไปเสนอขายแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องหากได้ผลตอบรับที่ดี ในปีต่อๆ ไปทาง อพท. ก็จะจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการตลาดให้แก่ชุมชนท่องเที่ยวที่พัฒนาขึ้นมา ขณะที่ในส่วนความพร้อมของชุมชนท่องเที่ยวที่จะรองรับนักท่องเที่ยวภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal นอกจากชุมชนจะมีมาตรฐานตามเกณฑ์การท่องเที่ยวโลก หรือ GSTC และมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand แล้ว ทาง อพท.ยังได้พัฒนาบริการด้านการจ่ายเงินมี คิวอาร์โค้ต แทนการรับเงินสด รวมทั้งยังออกข้อปฏิบัติของแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อสุขอนามัยปลอดภัยใส่ใจในสุขภาพ โดยเป็นข้อปฏิบัติ ที่ อพท. ร่วมกับเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และหน่วยงานภาคการท่องเที่ยว ภาคีการท่องเที่ยว จัดทำขึ้นมา เพื่อให้การบริการด้านสุขอนามัย ในชุมชนท่องเที่ยวที่ อพท. พัฒนาขึ้นมานั้นสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่และยังสามารถยื่นขอมาตรฐาน SHA ได้อีกด้วย ทั้งนี้ นายทวีพงษ์ ยังกล่าวต่อว่า ทาง อพท. ยังขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2562–2565) และตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งในปี 2563 อพท. ดำเนินการใน 4 เรื่องหลัก คือ 1.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้ได้มาตรฐาน TOP 100 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถให้กับแหล่งท่องเที่ยว 2.การขับเคลื่อนเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network - UCCN) 3.ขยายแนวเขตพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองให้ครอบคลุมจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเตรียมตัวเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี และ 4.การศึกษาเพื่อเตรียมประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ในจังหวัดเชียงราย พื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา ในส่วนของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่ TOP 100 นั้นเพื่อเป็นการรับประกันมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยว ในเวทีระดับนานาชาติ เพราะ TOP 100 เป็นรางวัล Sustainable Destinations Top100 ซึ่งจะประกาศและจัดพิธีมอบรางวัลที่งานส่งเสริมการท่องเที่ยว ITB Berlin ประเทศเยอรมันนี สำหรับปี 2563 อพท. ตั้งเป้าหมายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบในพื้นที่พิเศษ ให้มีความพร้อมเพื่อยกระดับและส่งเข้าประกวดในเวทีดังกล่าวในปี 2565 และคาดหวังได้อย่างน้อย 2 แหล่ง คือ จังหวัดน่าน และสุโขทัย