แนวทางที่หลายๆ คนจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในช่วงไวรัสโควิด-19 ตัวนี้ออกมาระบาด ซึ่งจะเปลี่ยนชีวิตเราไปอีกนาน หรือจนกว่าจะมียารักษา เมื่อยังต้องเดินหน้าใช้ชีวิตก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิต กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นการให้บริการประชาชน แน่นอนว่าในทุกการบริการนั้นมีผลกระทบกับประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้ มาดูกันว่าอะไรบ้างที่ประชาชนต้องรู้หากต้องติดต่อกับหน่วยงานกทม. มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ง่ายกับวิถีชีวิตใหม่อย่างไร นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานครเกริ่นว่า การปรับเปลี่ยนชีวิตให้เข้ากับวิถีชีวิติใหม่ หรือ New Normal นั้น ประชาชนอาจมองในช่วงแรกเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่เมื่อเราปรับตัวได้ก็จะกลายเป็นวิถีชีวิตปกติ ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิถีชีวิตที่ทำให้เราปลอดภัย แต่ยืนยันว่าการให้บริการประชาชนยังคงเดิม เพียงปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ในส่วนของกรุงเทพมหานครนั้น ก็ได้ปรับรูปแบบการให้บริการประชาชนที่จะติดต่อกับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ที่เรียกว่า “บริการ BMA Q” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นจองคิวออนไลน์ บริการงานทะเบียนและงานขออนุญาตต่างๆ ภายในศูนย์ BFC 50 สำนักงานเขต โดยประชาชนทำการจองคิวได้ด้วยตัวเอง เพื่อความสะดวกในการวางแผน การเดินทาง ลดความแออัดของสถานที่ และไม่ต้องรอคิวนานๆ สอดคล้องกับการใช้ชีวิตแบบ New Normal ตามมาตรการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 วิธีการก็ไม่ได้ยุ่งยาก หลังจากจองคิวผ่านแอปพลิเคชั่น BMA Qแล้ว ท่านจะได้รับคิวอาร์โค้ด (QR code) ยืนยัน เพื่อนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่พร้อมตรวจเอกสารให้เรียบร้อย จากนั้นจะได้รับบัตรคิวใหม่เพื่อรอเรียกใช้บริการตามลำดับการจองคิว แต่หากมาถึงช้ากว่าเวลานัดหมาย 15 นาที คิวนั้นจะถูกยกเลิกทันที สำหรับบริการจองคิวออนไลน์ของ BMA Q จะมี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 บริการจองคิวล่วงหน้าได้ถึง 10 วันทำการ ระหว่างเวลา 08.00-12.00 น. และ 13.00-15.00 น. ซึ่งจะรับจองช่วงเวลาละ 5 คน รวมแล้ว 30 คนต่อวัน ข้อดีคือ เมื่อไปถึงสำนักงานเขตและได้รับการตรวจสอบว่ามีเอกสารครบถ้วน ประชาชนจะได้รับบัตรคิวใหม่ โดยเป็นลำดับต่อจากผู้ที่รับบริการอยู่ในเวลาปัจจุบันทันที ส่วนรูปแบบที่ 2 เป็นบริการบัตรคิวทั่วไป เพื่อใช้บริการในวันเดียวกัน โดยจะสามารถเช็คจำนวนผู้รอรับบริการของสำนักงานเขตที่ใกล้ที่สุด หรือเขตที่มีผู้ใช้บริการน้อยที่สุดได้ ณ เวลานั้นๆ ได้ เพื่อเลือกช่วงเวลาที่จะสะดวกไปใช้บริการ สำหรับประชาชนที่ไม่ได้นัดหมายหรือจองคิวล่วงหน้า ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถทำอะไรได้ โดยยังสามารถใช้บริการต่างๆ ของสำนักงานเขตได้ตามลำดับปกติเช่นเดิม เพียงเท่านี้เขตก็สามารถควบคุมจำนวนประชาชนที่มาติดต่อรับบริการในแต่ละช่วงเวลาได้ ประชาชนก็ไม่ต้องมารวมตัวกันจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันประชาชนก็เริ่มปรับตัวและหันมาใช้รูปแบบจองคิวล่วงหน้าออนไลน์มากขึ้น แล้วในส่วนของการบริการด้านการแพทย์สาธารณสุขในสังกัดของกรุงเทพมหานคร มีการเตรียมการอย่างไรบ้าง นางศิลปสวยย้ำว่า โรงพยาบาลกทม.วิถีใหม่ “มุ่งลดความแออัด เพิ่มความสะดวกสบายให้คนใข้และผู้ใช้บริการ” ไม่ให้มีความเสี่ยงสัมผัสโรคอุบัติใหม่ โดยเฉพาะโรคโควิด-19 โดยมีแนวทางพัฒนาระบบให้บริการ นำเทคโนโลยีระบบไอทีมาใช้ในทุกส่วน ทั้งการนัดพบแพทย์ การรับยา และการชำระเงิน รวมถึงเร่งเพิ่มหน่วยบริการให้ทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ ให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไกล สามารถใช้บริการทางการแพทย์ได้ใกล้บ้าน ช่วยลดความหนาแน่นในการตรวจรักษาภายในโรงพยาบาล ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง ได้มีมาตรการต่างๆ ในการให้บริการด้วยความสะดวกรวดเร็ว โดยมีโครงการ โทรนัด BFC พบแพทย์ใน 60 นาที ซึ่งที่ผ่านมายังมีการใช้ระบบนี้ไม่มากนัก ต้องกระตุ้นให้ใช้กันมากขึ้น อีกทั้งระบบจองคิวออนไลน์ ผ่านBMA Qที่ขณะนี้ให้ใช้เฉพาะบริการที่สำนักงานเขต ซึ่งจะนำโรงพยาบาลกทม.เข้าระบบด้วย โทรนัด BFC พบแพทย์ใน 60 นาที และ ระบบจองคิวออนไลน์ ผ่าน BMA Q จะช่วยลดความหนาแน่นที่ห้องตรวจ และห้องฉุกเฉิน โดยคัดกรองคนไข้ก่อนไปโรงพยาบาล แบ่งกลุ่มเป็นเคสนัดพบแพทย์ และเคสผู้ป่วยใหม่ การตรวจรักษาจะแยกคนไข้ทางเดินหายใจกับคนไข้ปกติ แยกส่วนให้บริการเฉพาะคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) จัดระบบเข้า-ออกทางเดียว ขณะนี้มีที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กำลังทำใน 5 โรงพยาบาลขนาดใหญ่ นอกจากนี้ กำลังพัฒนาระบบให้บริการ ตรวจรักษาทางไกลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต Tele Medicine ขอรับคำปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร นำร่องที่โรงพยาบาลสิรินธร โดยอยู่ระหว่างจัดทำระบบคอมพิวเตอร์ทางการแพทย์โดยเอกชนเสนอทำโปรแกรมให้ในระยะแรก น่าจะได้ใช้งานในปี 2563นี้ อย่างไรก็ดี ระบบ Tele Medicineจะใช้ได้ในคนไข้บางกลุ่มเท่านั้น ในการรับยา มีโครงการรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านซึ่งได้เชิญร้านยาเข้าร่วมแล้วหลายร้าน และมีบริการส่งยาทางไปรษณีย์ แผนอนาคตจะมีบริการเจาะเลือดที่บ้าน ด้วยรถหน่วยบริการเคลื่อนที่ รวมถึงการชำระเงิน ด้วยตู้ชำระเงินเอง ด้านคนไข้ในมีระบบป้องกันในทุกส่วนบริการ และจัดทำห้องเฉพาะคนไข้กลุ่มพิเศษในทุกโรงพยาบาล รองรับกรณีการระบาดของโรค รวมถึงพัฒนาหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์นำมาใช้ในโรงพยาบาล กทม.ด้วย การพัฒนาระบบการให้บริการในโรงพยาบาลกทม.เข้าสู่ระบบออนไลน์ เรามีแผนปรับปรุงพัฒนาอยู่แล้ว ซึ่งโควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งให้พัฒนาเร็วขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลกทม.ต้องพัฒนาตาม อนาคตจะใช้บริการผ่านสมาร์ทโฟนทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้ในกรุงเทพฯ 90% น่าจะใช้งานแล้ว “โรงเรียน” อีกสถานที่ที่มองข้ามไม่ได้ เพราะกรุงเทพมหานครมีโรงเรียนในสังกัดถึง 437 โรงเรียน ปลัด กทม. กล่าวว่า โรงเรียนในสังกัดกทม.จะพร้อมเปิดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยระหว่างนี้ได้กำชับโรงเรียนต่างๆ ในสังกัดกทม.ประสานการปฏิบัติงานให้กับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อร่วมกันทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน เช่น ห้องเรียน ห้องน้ำ ห้องพยาบาล โรงอาหาร ตลอดจนให้โรงเรียนแต่ละแห่งจัดโต๊ะเรียนและโต๊ะรับประทานอาหารของนักเรียนให้มีการเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร (Physical Distancing) นอกจากนี้ มีการใช้นวัตกรรมต่างๆ สำหรับการเว้นระยะห่างระหว่างนักเรียน เช่น ฉากกั้นระหว่างโต๊ะเรียน โต๊ะรับประทานอาหาร รวมทั้งได้กำชับให้โรงเรียนเตรียมจัดตั้งจุดคัดกรองนักเรียนด้วยการวัดอุณหภูมิก่อนเข้าโรงเรียน รวมทั้งกำชับให้โรงเรียนแต่ละแห่งใช้แอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มที่ทางราชการกำหนด เช่น “ไทยชนะ” เพื่อบันทึกการเข้า-ออกของแต่ละบุคคลที่เข้า-ออกพื้นที่โรงเรียน ให้ติดตั้งจุดทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ล้างมือในบริเวณต่างๆ ของโรงเรียนให้เพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อให้นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนสามารถล้างมือได้บ่อยๆ มีการจัดตารางการเรียนการสอนที่เหมาะสม อาทิ งดการเรียนการสอนในพื้นที่แออัด จัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามแนวทางของสำนักการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย 4 ช่องทาง หรือ 4 Onได้แก่ Online, On air, On hand และ On site ตามความเหมาะสมของนักเรียนและเนื้อหาการเรียนรู้ นี่จะเป็นแนวทางที่หลายคนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่เจ้าโควิด-19 ระบบออนไลน์จะเข้ามาช่วยทำให้เราต้องปรับตัวเพื่อก้าวผ่านวิกฤต นอกเหนือจากการปรับพฤติการด้านการป้องกันเฉพาะบุคคล จนกลายเป็นความปกติใหม่ที่ชัดเจนในสังคมไปอีกระยะเวลาหนึ่ง