การเข้าพรรษา เป็นพุทธบัญญัติซึ่งพระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม หมายถึง การอธิษฐานอยู่ประจำที่ไม่เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ เว้นแต่มีกิจกรรมจำเป็นจริงๆ
ช่วงจำพรรษาอยู่ในช่วงฤดูฝน คือ แรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ดังนั้น วันเข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาอธิษฐานอยู่ประจำในวัดหรือเสนาสนะที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้แห่งหนึ่ง ไม่ได้ไปค้างแรมในที่อื่น ตลอด 3 เดือนในฤดูฝน
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญที่ทำให้เกิดกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง พระภิกษุจะได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ ศึกษา พระธรรมวินัยและประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่กับพระเถระที่เป็นอุปัชฌาย์ อาจารย์ได้อย่างเต็มที่ ส่วนพุทธศาสนิกชนจะได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญกุศลได้อย่างเต็มที่ เช่น ทำบุญตักบาตร รักษาศีล สวดมนต์ ฟังธรรม เจริญภาวนา ตลอดพรรษา และวันเข้าพรรษา ก่อให้เกิดประเพณีสำคัญ 2 ประเพณี คือ ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝนและประเพณีแห่เทียนพรรษา
ด้าน นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวว่า ศน.ได้กำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โดยให้ทุกภาคส่วนดำเนินตามข้อปฏิบัติและคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และคำแนะนำเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณีต่างๆ พิธีทางศาสนาในสถานการณ์โรคโควิด-19 ของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยส่วนกลาง ร่วมกับคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์หล่อเทียนพรรษา วันที่ 29 มิ.ย. อาคารวธ. และมีพิธีปล่อยขบวนรถแห่เทียนพรรษาในวันที่ 3 ก.ค. ไปถวายพระอาราม จำนวน 10 วัด ได้แก่ วัดปทุมวนาราม วัดพรหมวงศาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก วัดเทพลีลา วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดชัยพฤกษมาลา วัดเสมียนนารี วัดปากน้ำ และวัดสามพระยา
ในส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด บูรณาการตามบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา พิธีหล่อเทียน แห่เทียน ถวายเทียนพรรษา ปฏิบัติธรรม ประดับธงชาติธงธรรมจักร จัดนิทรรศการวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ให้ความรู้เรื่องวันอาสาฬหบูชา เข้าพรรษา และรณรงค์ให้พุทธศาสนิกชนรักษาศีล ลด ละ เลิก อบายมุข ตลอดช่วงเข้าพรรษา
แฟ้มภาพ