นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากการประชุมพิจารณาทบทวนตัวชี้วัดตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2559-2564) ซึ่งเป็นแผนแม่บทระดับชาติ ให้ทุกหน่วยงานใช้เป็นกรอบและทิศทางในการปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม โดยนำกลไกประชารัฐมาใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ เนื่องจากการดำเนินงานมา 4 ปี การวัดผลของแผนยังไม่เป็นที่ประจักษ์อย่างแท้จริง ซึ่งในระยะเวลาดำเนินงานของแผนที่เหลืออีก 1 ปีข้างหน้า ได้มอบหมายให้กรมการศาสนา (ศน.) ในฐานะเลขานุการฯ จะต้องกลับไปทบทวนตัวชี้วัดการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของสังคมไทยทุกระดับ ทั้งบุคคล ชุมชน องค์กร ให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนแม่บทที่วางไว้ 3 ประการ ได้อย่างแท้จริง ได้แก่ 1. ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา 2. น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ และ 3.ประชาชนต้องรู้รากเหง้ามรดกภูมิปัญญา รวมถึงสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชาติ “หลายปีที่ผ่านมาจนถึงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเห็นได้ว่าสังคมไทยมีการขับเคลื่อนคุณธรรมในเชิงบวกมากขึ้น เห็นได้ประจักษ์ชัดในด้านจิตอาสา พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสนับสนุนและหล่อหลอมคนไทย สังคมไทย เป็นสังคมแห่งการทำความดี ด้วยการให้ การแบ่งปัน เพื่อผู้อื่น และสาธารณประโยชน์ อีกทั้งคนไทยยังได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ดำเนินชีวิตมากขึ้นเช่นกัน ด้วยการปลูกผักไว้รับประทานเอง และแบ่งปันให้ผู้อื่น รู้จักใช้เงินเก็บออมมากขึ้น ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ในส่วนดีๆ นี้จะต้องช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีมากขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนที่เป็นสิ่งเร้า ทำให้สังคมเสื่อมลงก็มีอยู่มาก ดังนั้น ในช่วงเวลาตามแผนที่เหลืออีก 1 ปี หลังจากนี้จะต้องหาทางขจัดปัญหา ที่นำไปสู่ความเสื่อมของสังคมให้ได้ จะต้องสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” ปลัดวธ. กล่าว นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า จากเดิมศน.มีการขับเคลื่อนโดยใช้หลักคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา โดยจะต้องปรับให้เป็นไปตามเป้าหมายตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ 3 ประการ และให้สามารถวัดผลได้จริงเป็นรูปธรรม