เชิงสารคดี: ฝรั่งเศสนับได้ว่าเป็นประเทศที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์ของไทยมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาเป็นราชธานี และไม่เพียงเฉพาะในอยุธยา แต่บทบาทของฝรั่งเศสยังแผ่ขยายมาถึงจันทบุรี ขณะที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ปกครองกรุงศรีอยุธยานั้น บาทหลวงสมาคมหรือคณะมิชชั่นแห่งกรุงปารีส ได้เคยเข้ามาตั้งสำนักและโบสถ์ในเมืองจันทบุรี ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสได้มีบทบาทเป็นอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 โดยในช่วงนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคล่าอาณานิคมในช่วงท้ายๆ โดยชาติตะวันตกรวมถึงฝรั่งเศสได้เข้ามามีอิทธิพลสำคัญทางแถบเอเชียมากขึ้นทุกที ซึ่งจุดประสงค์ที่สำคัญก็คือการแสวงหาอาณานิคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำเนินวิเทโศบายเช่นเดียวกับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ทรงยอมรับว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องผูกสัมพันธไมตรีกับพวกฝรั่ง และจากการที่พระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศหลายครั้ง จึงทรงนำเอาความเจริญรุ่งเรืองที่ทรงพบเห็นมาปรับปรุงประเทศชาติ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับนับถือของพวกฝรั่ง แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถหยุดยั้งการรุกรานของพวกฝรั่งชาติตะวันตกได้โดยเฉพาะชาติอังกฤษและฝรั่งเศส ใน ปี พ.ศ.2436 เมอสิเออร์ เดอลองล์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส ได้เสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศสเร่งรัดให้รัฐบาลฝรั่งเศสใช้กำลังกับไทยในปัญหาเขตแดนซึ่งเคยเป็นของญวนและเขมร จากนั้นฝรั่งเศสก็ได้ยกกำลังทหารเข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของลำแม่น้ำโขง และส่งเรือปืนลูแตงเข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อต้น พ.ศ.2436 โดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของฝรั่งเศสที่มีอยู่ในประเทศไทย รัฐบาลไทยจำต้องยินยอม เหตุการณ์มิได้ยุติลงเพียงแค่นั้น ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน รัฐบาลฝรั่งเศสได้ขออนุญาตต่อรัฐบาลไทยขอนำเรือปืน 2 ลำ คือ เรือแองคองสตังค์ และเรือโคแมต เข้ามายังประเทศไทย รวมกับเรือลูแตงที่มาประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วรวมเป็น 3 ลำ ซึ่งรัฐบาลไทยได้พิจารณาเห็นว่าการที่ต่างประเทศนำเรือของตนเข้ามาประจำอยู่ในกรุงเทพเกิน 1 ลำ เป็นสิ่งที่ไม่น่าปลอดภัย รัฐบาลไทยจึงตอบปฏิเสธไป อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายไทยมิได้นิ่งนอนใจ เพราะการตอบปฏิเสธเช่นนั้นย่อมเป็นที่ไม่พอใจของฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระบรมราชโองการให้กองทัพเรือเตรียมกำลังป้องกันการล่วงล้ำอธิปไตย โดยมี นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์ รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เป็นผู้อำนวยการการป้องกันปากน้ำเจ้าพระยา ได้วางแผนปฏิบัติการป้องกันการบุกรุกของกองเรือรบฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา ดังนี้ คือ - สั่งให้ป้อมพระจุลจอมเกล้าซึ่งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดสร้าง และป้อมฝีเสื้อสมุทร ซึ่งติดตั้งปืนอาร์มสตรอง ขนาด 6 นิ้ว อันทันสมัยเตรียมพร้อม เพื่อจะหยุดยั้งการบุกรุกของเรือรบฝรั่งเศส อันอาจเกิดขึ้นได้ - สั่งให้เรือรบ 9 ลำ ประกอบด้วย เรือปืนมกุฎราชกุมาร เรือปืนมูรธาวสิตสวัสดิ์ เรือหาญหักศัตรู เรือนฤเบนทร์บุตรี เรือทูลกระหม่อม เรือฝึกและเรือวางทุ่นระเบิด ซึ่งส่วนใหญ่มีชาวต่างชาติเป็นผู้บังคับการเรือ เตรียมพร้อมอยู่ที่ด้านเหนือของป้อมพระจุลจอมเกล้าเล็กน้อย เรือที่วางกำลังป้องกันเหล่านี้ ส่วนมากเป็นเรือล้าสมัย หรือเป็นเรือกลไฟประจำในแม่น้ำ มีเรือที่ทันสมัยเพียง 2 ลำ เท่านั้น คือ เรือมกุฎราชกุมาร และเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ รวมทั้งได้วางเครื่องกีดขวางที่ปากน้ำเจ้าพระยา เช่น ตาข่าย สนามทุ่นระเบิด และสนามยิงตอร์ปิโด ครั้นในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436 เรือรบฝรั่งเศส 2 ลำ คือ เรือสลุปแองคองสตังค์ และเรือปืนโคแมต ได้รุกล้ำสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามายังพระนคร หมู่ปืนที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าได้ยิงด้วยนัดดินเปล่าเพื่อเป็นการเตือนเรือรบฝรั่งเศสไม่ให้ล่วงล้ำเข้ามา แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ ในที่สุดต่างฝ่ายก็ระดมยิงโต้ตอบกัน เรือรบไทยที่จอดอยู่เหนือป้อมพระจุลจอมเกล้า ทั้ง 9 ลำ ต่างก็ระดมยิงไปยังเรือรบฝรั่งเศส การรบได้ดำเนินไปเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเศษก็ยุติลง เพราะความมืดเป็นอุปสรรค เรือแองคองสตังต์ และเรือโคแมต ที่ได้รับความเสียหายบางส่วน สามารถตีฝ่าแนวป้องกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาเข้ามาได้จนถึงกรุงเทพฯ และเทียบท่าอยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส โดยมีทหารประจำเรือเสียชีวิตรวม 3 นาย และเรือนำร่อง ถูกยิงเกยตื้นอยู่ริมฝั่ง ส่วนฝ่ายไทย เรือมกุฎราชกุมารถูกกระสุนปืนใหญ่ 1 นัด ที่หัวเรือ และถูกกระสุนปืนเล็ก เป็นจำนวนมาก เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ถูกกระสุนปืนใหญ่ 2 นัด ที่ข้างเรือกราบซ้ายตรงห้องเครื่องจักร 1 นัด ที่ส่วนบนเรือ 1 นัด และถูกกระสุนปืนเล็กเป็นจำนวนมาก สำหรับเรือหาญหักศัตรูถูกยิงที่ท้ายเรือมีช่องโหว่ เรือทูลกระหม่อมถูกกระสุนปืนใหญ่ 1 นัด ที่หัวเรือ (มีต่อ)