ช่วงหน้าฝน โรคหนึ่งที่พบบ่อยคือ น้ำกัดเท้า เพจ Fda Thai ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โพสต์ถึงเรื่อง “น้ำกัดเท้า” โดยระบุ “น้ำกัดเท้า เป็นอาการทางผิวหนังที่พบบ่อยในภาวะอุทกภัย สาเหตุเกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณเท้าที่แช่อยู่ในน้ำที่สกปรกเป็นเวลานาน หรือเท้าที่เปียกชื้นจากน้ำหรือเหงื่อตลอดเวลา ผิวหนังจะมีอาการผื่นแดง แสบ คัน และอาจมีขุยลอกได้ โดยเฉพาะที่บริเวณซอกนิ้วเท้า การรักษาเบื้องต้นคือการใช้ยาทาแก้ผื่นคัน เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนังและลดอาการขุยคันลงได้ แต่หากปล่อยให้ผิวหนังอักเสบอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ผิวหนังเปื่อย ฉีกขาด และมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราตามมา ทำให้ยากต่อการรักษามากยิ่งขึ้น ดังนั้น ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอาการน้ำกัดเท้า ควรทำดังนี้ - ล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลังย่ำน้ำ ลุยน้ำ หรือเปียกน้ำ และเช็ดเท้าให้แห้ง - หากมีแผลบริเวณเท้า ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ และใส่ยาฆ่าเชื้อ - ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า เป็นต้น - ไม่เกาบริเวณที่เป็นแผล เพราะเชื้อจากแผลอาจแพร่ไปยังผิวหนังส่วนอื่นได้ - ใส่ถุงเท้า รองเท้าที่สะอาด แห้ง ไม่เปียกชื้น”