วันนี้แล้วตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00-16.10 น. จะเกิดปรากฏการณ์พิเศษ “สุริยุปราคาวงแหวน” ซึ่งดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ไม่เต็มดวง ทำให้มองคล้ายวงแหวน สำหรับประเทศไทย จะเห็นได้เพียงแค่บางส่วน เป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” เห็นเป็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง โดยสามารถเห็นได้ทั่วไทย และหากพลาดต้องรอชมอีก 7 ปี NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์จะปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุด เวลาประมาณ 14:49 น. สังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภูมิภาคจะมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากน้อยแตกต่างกัน โดยภาคเหนือ ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณร้อยละ 63  กรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังประมาณร้อยละ 40  และภาคใต้ ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังน้อยที่สุดที่ อ.เบตง จ.ยะลา ประมาณร้อยละ 16 พร้อมกับมีคำเตือนห้ามมองด้วยตาเปล่าเด็ดขาดเพราะเป็นอันตรายต่อดวงตา นอกเหนือจากการเฝ้าชมปรากฏการณ์นี้ และที่มีการเชื่อกันในเรื่องเคล็ดลางต่างๆ เราจะศึกษาอะไรได้จากสุริยุปราคาทั้งสองแบบนี้ได้ ในมุมมองนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ มีคำตอบดังนี้ #บรรยากาศโลกในช่วงเกิดสุริยุปราคา จากปรากฏการณ์ที่ความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ลดลงแล้วกลับมาสว่างขึ้นในเวลาค่อนข้างเร็ว ทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาว่าความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจะมีผลต่อบรรยากาศของโลกหรือไม่ อาทิ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงระหว่างเกิดสุริยุปราคา ความเปลี่ยนแปลงของสภาพการนำไฟฟ้าในบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ หรือการเกิดโอโซนจากการเปลี่ยนแปลงของรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงอาทิตย์ #ความเข้มแสงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงตามอัตราการบังของดวงจันทร์ อย่างกรณีเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้า แสงอาทิตย์จะส่องเป็นมุมเฉียงมากขึ้นและมีระยะเดินทางผ่านบรรยากาศโลกยาวขึ้น แสงจึงถูกกรองออกไปมากขึ้นด้วย ทำให้เราสามารถมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าได้ในช่วงที่กำลังขึ้นและตก #พื้นผิวของดวงจันทร์ หากขนาดปรากฏของดวงจันทร์ขณะเกิดสุริยุปราคาวงแหวนใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์มาก ๆ จนมองเห็นสุริยุปราคาวงแหวนมีวงแหวนที่ขาดช่วงไป นั่นคือปรากฏการณ์ “ลูกปัดเบลีย์” เกิดจากแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านหุบเหว ร่องหรือหลุมอุกกาบาตบริเวณขอบของดวงจันทร์ จนเห็นแสงอาทิตย์สว่างเป็นหย่อม ๆ บนวงแหวนบาง ลักษณะปรากฏของ “วงแหวนขาดช่วง” ทำให้ประเมินคร่าว ๆ ว่าบริเวณใดเป็นภูเขาหรือหุบเหวบนดวงจันทร์ แล้วจึงนำไปเทียบกับแผนที่ดวงจันทร์ต่อได้ #การโคจรของดวงจันทร์ ในการเกิดสุริยุปราคาแต่ละครั้ง ระยะห่างระหว่างดวงจันทร์และโลกจะแตกต่างกัน อัตราเร็วก็จะไม่เท่ากันตามไปด้วย หรือทำได้จากการถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วนด้วยผู้สังเกตการณ์ 2 คน ที่อยู่ห่างกันในเวลาเดียวกัน แล้วนำมาหาระยะห่างของดวงจันทร์โดยใช้หลักการพารัลแลกซ์ #พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตระหว่างเกิดสุริยุปราคา แม้ดวงอาทิตย์จะไม่ได้สว่างน้อยลงเท่ากับสุริยุปราคาเต็มดวง แต่เมื่อความเข้มแสงอาทิตย์เปลี่ยนไปจากสุริยุปราคา จะส่งผลต่อพฤติกรรมสิ่งมีชีวิต อย่างไร เช่น นกพากันบินกลับรังเพราะคิดว่าเป็นเวลาเย็น #สุริยุปราคาทางดาราศาสตร์เชิงวัฒนธรรม เช่น - ด้วยองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ในยุคกลางที่คิดว่าโลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ จะสามารถคำนวณสุริยุปราคาวงแหวนได้อย่างไร? - การตรวจหาบันทึกเกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนและวงแหวนในเอกสารทางประวัติศาสตร์ - การสำรวจความเชื่อดั้งเดิมหรือนิทานดาวในวัฒนธรรมหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ว่ามีความแตกต่างกันระหว่างสุริยุปราคาเต็มดวงกับสุริยุปราคาวงแหวนหรือไม่? อย่างไร? เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ อ้างอิง : [1] https://agupubs.onlinelibrary.wiley.com/…/1…/JA091iA02p01661 [2] https://www.sciencedirect.com/…/artic…/pii/S027311771100682X [3] https://agupubs.onlinelibrary.wiley.com/…/10.1…/2010GL045903 [4] https://repository.kulib.kyoto-u.ac.jp/…/2…/1/PAN23(2)_9.pdf [5] https://www.cambridge.org/…/8414D5A420B254CCF704C0270294CFDC”