23 ก.ค.นี้ กับความพยายามอีกครั้ง! ที่จีนเตรียมส่ง "ยานเทียนเวิ่น 1" มุ่งหน้าสำรวจดาวอังคาร NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “เรียกได้ว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษมานี้ "ดาวอังคาร" กลายเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมจากหลากหลายชาติ สำหรับส่งยานหุ่นยนต์ไปสำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ จะมีทั้ง #ยานโฮป ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ #ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ ของสหรัฐอเมริกา และ #ยานเทียนเวิ่น1 ของจีน ที่จะมุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร ก่อนหน้านี้จีนเคยพยายามส่งยานไปสำรวจดาวอังคารแล้วครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2555 "ยานอิ๋งหั่ว 1" (Yinghuo-1) ออกเดินทางสู่อวกาศ หากแต่ไม่สามารถหลุดออกวงโคจรโลกได้ ก่อนจะตกกลับมายังโลกพร้อมกับยานโฟบอส-กรุนต์ของรัสเซีย ชาติแรกในเอเชียที่สามารถส่งยานอวกาศไปเยือนดาวอังคารได้สำเร็จคืออินเดีย ด้วยยาน Mars Orbiter Mission ในปี พ.ศ. 2557 อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนได้กลับมาพร้อมกับความพยายามที่จะส่งยานหุ่นยนต์ไปสำรวจดาวอังคารอีกครั้ง คราวนี้คือยาน “เทียนเวิ่น 1" (Tienwen-1) แปลว่า “คำถามถึงสรวงสวรรค์” เป็นชื่อบทกวีจีนโบราณที่ยิ่งใหญ่ของ “ชวี ยฺเหวียน" (Qu Yuan) ผู้มีชีวิตในช่วง 340 - 278 ปีก่อนคริสตกาล และเป็นหนึ่งในกวีคนสำคัญของชาวจีนโบราณ เนื้อหาในงานวรรณกรรมว่าด้วยคำถามต่าง ๆ ถึงนิยายปรัมปราและความเชื่อเก่าแก่ของจีน ยานเทียนเวิ่น 1 มาพร้อมกับภารกิจ ดังนี้ - ตรวจหาหลักฐานบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารทั้งในอดีตและปัจจุบัน - ทำแผนที่พื้นผิวดาวอังคาร - วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีและน้ำแข็งเจือปนของดินดาวอังคาร - ศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร - ทดสอบเทคโนโลยีอวกาศเพื่อใช้เตรียมพร้อม สำหรับภารกิจในอนาคตที่จะส่งยานไปเก็บตัวอย่างดินดาวอังคารแล้วส่งกลับมายังโลก ยานเทียนเวิ่น 1 จะประกอบด้วยยานโคจรรอบดาว (Orbiter) ยานลงจอดบนพื้นผิว (Lander) และรถสำรวจ (Rover) โดยมีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์รวม 12 ชิ้น ติดตั้งกับยานโคจรรอบตัวดาวและรถสำรวจ ดังนี้ ยานโคจรรอบดาว : - กล้องถ่ายภาพความละเอียดปานกลาง - กล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง - อุปกรณ์ตรวจวัดสนามแม่เหล็กดาวอังคาร - อุปกรณ์ตรวจวัดสเปกตรัมแร่บนดาวอังคาร - ระบบเรดาร์สำหรับสำรวจชั้นใต้ผิวดินของดาวอังคาร - อุปกรณ์วิเคราะห์ไอออนและอนุภาคเป็นกลางทางไฟฟ้าบริเวณดาวอังคาร รถสำรวจ : - อุปกรณ์สำรวจชั้นใต้ผิวดินด้วยเรดาร์ - อุปกรณ์ตรวจวัดสนามแม่เหล็กบนพื้นผิวดาวอังคาร - อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศบนดาวอังคาร - อุปกรณ์ตรวจวัดองค์ประกอบบนพื้นผิวดาวอังคาร - กล้องถ่ายภาพในหลายช่วงความยาวคลื่น - กล้องถ่ายภาพเพื่อการนำทางและศึกษาลักษณะภูมิประเทศ ส่วนยานลงจอดนั้น มีหน้าที่บรรทุกรถสำรวจลงดาวอังคารและใช้เป็นฐานปล่อยรถสำรวจลงสู่พื้นผิวดาว องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) มีกำหนดส่งยานเทียนเวิ่น 1 ไปกับจรวดลองมาร์ช 5 ที่จะปล่อยจากฐานปล่อยจรวดเหวินชาง เกาะไห่หนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 และจะเดินทางถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดยวางแผนให้ยานลงจอดและรถสำรวจลงสู่พื้นผิวดาวอังคารบริเวณที่ราบต่ำยูโทเปีย (Utopia Planitia) ซึ่งเป็นที่ราบแห่งเดียวกันกับที่ยานไวกิง 2 ของสหรัฐฯ ลงจอดเมื่อปี พ.ศ. 2519 และคาดว่ายานโคจรรอบดาวจะสามารถปฏิบัติภารกิจได้นาน 1 ปีของโลก และรถสำรวจสามารถปฏิบัติภารกิจได้นาน 90 วันของดาวอังคาร หรือประมาณ 93 วันของโลก ความพยายามของจีนที่พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อหวนกลับสู่การส่งยานสำรวจดาวอังคารจะสำเร็จหรือไม่ มาร่วมลุ้นไปพร้อมกัน เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : [1] https://indianexpress.com/article/explained/explained-what-is-tianwen-1-... [2] http://www.china.org.cn/china/2020-04/24/content_75972021.htm