คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ตอนแรก ก็นึกชอบไปเดียของการสร้างซีรีส์ “มหัศจรรย์พระพุทธเจ้า มหาศาสดาเอกโลก” ที่กำลังเผยแพร่อยู่ทางยูทูบขณะนี้ แต่พอได้ฟังคำว่า “กายะ” และคำว่า “โพธิกายะ” ก็งงๆอยู่พักหนึ่ง เพราะตั้งแต่อ่านพระไตรปิฎก หรืออ่านพุทธประวัติมา ไม่เคยได้ยินคำว่า สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มีคำว่ากายะ หรือโพธิกายะ ฟังไป-ฟังไป ก็นึกได้ว่า คงมาจากคำว่า “คยา” และ “โพธิคยา” นั่นเอง ก็ทำให้เสียความรู้สึกไม่น้อย รู้สึกไม่มั่นใจในความรู้จองคณะผู้จัดทำชีรีส์ชุดนี้ เข้าใจว่า ผู้อ่านกายะ คงเห็นคำว่า Gaya (หรือ Gya) ในคำอังกฤษ ก็เลยออกเสียงว่ากายะ คงเข้าใจว่า G เท่ากับ ก ในภาษาไทย แต่ความจริง G เท่ากับ ค (ออกเสียงกึ่ง ก กับ ค ) นั่นเอง เมื่อเข้าใจว่า Gaya เป็น กายะ ก็เลยแปลผิดว่า โพธิคยา แปลว่า “กายแห่งปัญญา” ทั้งๆที่ คยา เป็นชื่อของย่านนั้น (เป็นชื่อของอาณาบริเวณย่านนั้น หรือเป็นตำบลหนึ่งนั่นเอง) คำว่า โพธิคยา เขาเขียนว่า Bodhgaya (แขกออกเสียงเป็น “โบ๊ธคยา” คนไทยออกเสียงเป็น “พุทธยา”ครับ ซีรีส์ (ภาพยนตร์ชุด) เรื่อง “มหัศจรรย์พระพุทธเจ้า มหาศาสดาเอกโลก” เป็นภาพยนตร์นำเข้า สร้างในสถานที่จริงและผู้แสดงเป็นแขก หน้าตาออกจะสมจริงกับพุทธประวัติ บางตอน สร้างได้ดีมาก เช่น ตอน “องคุลิมาล” และ ตอน “นางปฏาจารา” อุ้มศพลูกน้อยไปถามตามบ้าน(เรือน) ที่ไม่เคยมีคนตาย เพื่อขอเมล็ดผักกาดมารักษาลูกให้คืนชีพ ตามคำแนะนำของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าในซีรีส์ชุดนี้ หน้าตาของผู้แสดงเหมาะสมดีครับ แต่เอะใจที่ให้เขาใส่วิกเป็นคนมีผมสีดำ ลักษณะเป็นผมหยิก ทำให้ต่างไปจากพระสาวก ซึ่งเป็นพระภิกษุรูปอื่นๆ แต่ในพระไตรปิฎก(ฉบับบาลี) พระพุทธเจ้าก็เหมือนนักบวช หรื อพระภิกษุทั่วไป คือมีศีรษะโล้น (เป็นสมณะโล้น) อยากให้ซีรีส์พระพุทธเจ้ามีความพิถีพิถันในข้อมูลให้มากขึ้น และอยากเห็น บทบาทและชีวิตของพระพุทธเจ้าเป็นไปตามข้อมูลในพระไตรปิฎกบาลีมากขึ้น โดยเฉพาะ “คำสอน” ของพระพุทธเจ้า ไม่อยากให้เป็นคำสอนดาษๆ ตื้นๆ ที่แต่งขึ้นเอง ชื่อเดิมของพระพุทธเจ้า ชื่อ “สิทธัตถะ” ไม่มีในพระไตรปิฎกบาลีครับ (ที่แปล สิทธัตถะ เป็นอะไรก็จำไม่ได้แล้ว ก็เป็นการแปลผิดครับ) ในพระไตรปิฎกบาลี คนในศาสนาอื่น (สมัยพุทธกาล) ล้วนแต่เรียกว่า “สมโณ โคตโม” (พระสมณะโคดม) และในพระไตรปิฎกบาลี ไม่มีกล่าวถึงพิธีตั้งชื่อพระกุมาณ (พระพุทธเจ้า) เลยแสดงว่า พิธีตั้งชื่อ แต่งเติมภายหลัง เรื่องราวตอนพระกุมาร (พระพุทธเจ้า) ช่วยชีวิตนกหงส์ที่ถูกเทวทัตยิง(ด้วยลูกศร) ก็ไม่มีในพระไตรปิฎกบาลี แต่มักจะมีในหนังสือการ์ตูนให้เด็กอ่าน หรือมักจะเล่าไว้ในหนังสือพุทธประวัติให้คนฮินดูอ่าน ตั้งข้อสังเกตว่า พุทธประวัติแนว “พระปิฎกสมโพธิกถา” นิยมเผยแพร่เล่าสู่กันฟัง พุทธประวัติแนวนั้น แทรกซึมอยู่ในคัมภีร์ออรรถกถาไม่น้อย แม้แต่เรื่องเจ้าชายเสด็จประพาสไปพบคนเกิด คนแก่ คนป่วย และคนตาย จนเป็นเหตุ หรือเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าชาย(พระพุทธเจ้า) คิดออกบวช ก็มีอยู่ในพระปฐมสมโพธิกถา ทำให้เรื่องราวของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล ไม่สมกับที่พระพุทธเจ้าเป็นคนช่างคิดด้วยสติปัญญาของพระองค์ตั้งแต่เยาว์วัย คำว่า “มหาศาสดาเอก(ของ)โลก” นั้น ออกจะเป็นการยกคมข่มท่าน ซึ่งในความเป็นจริง พระพุทธเจ้า(ในสมัยพุทธกาล) ก็เป็นเพียง“ครู” หรือ “เจ้าสำนัก” คนหนึ่ง หรือเป็นนักบวชใหญ่คนหนึ่งเท่านั้นเอง ในสมัยพุทธกาล (สมัยรัชกาลพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าปเสนทิโกศล พระพุทธเจ้าเป็น “ครู” คนหนึ่งในบรรดาครู 7 คน ที่มีสำนักอยู่ในแคว้นมคธ(และแคว้นโกศล) มีคนนับถือเป็นจำนวนมาก เพราะเรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็น “พระบรมศาสดา” เพื่อเป็นเกียรติ แต่ความจริง พระพุทธเจ้าก็เป็นเพียง “ศาสดา” ที่แปลมาจากคำบาลีว่า “สตฺถา” หรือ “ครู” เท่านั้นเอง คำว่า “สตฺถา” (หรือ “ครู”) นั้น ไม่เคยพบคำยกย่องเลิศลอยว่าเป็นพระศาสดาของโลก เคยพบแต่คำว่า “สตฺถา เทวมนุสฺสาน” (เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย) ซึ่งก็หมายเพียงว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ที่นับถือพระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่ใช่เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งโลก (ทั้งโลกธาตุ หรือทั้งจักรวาล) เทวดาและมนุษย์ของลัทธิอื่น หรือพวก “มิจฉาทิฎฐิ” (มีความเชื่ออย่างอื่น) พระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้เป็น “มหาศาสดา” ของพวกเขา อยากให้มีการสะสาง ชำระพุทธประวัติ โดยเน้นที่คำสอน “ของพระพุทธเจ้า” (ตามพระไตรปิฎกบาลี)ให้ชัดขึ้น ทุกวันนี้ ชาวพุทธเองก็เข้าใจและเชื่อพระพุทธเจ้าในทางปาฏิหาริย์มากกว่า (เห็นได้จากพวกหมอดูและพวกเข้าทรงทั้งหลาย ที่ประกาศตนว่าเป็นชาวพุทธ แต่ไม่เชื่อเรื่องกรรม อันเป็นคำสอนหลักของพระพุทธเจ้า หรือเข้าใจเรื่องกรรมต่างไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสิ้นเชิง) ถ้าชาวพุทธเห็นพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งมีการพัฒนาทางจิตใจสูงสุดก็จะเชื่อในเรื่องที่เป็นจริงและพิสูจน์ได้มากขึ้น คำสอนของพระพุทธเจ้า เรามักจะได้ยินว่ามากมายถึงแปดหมื่นสี่พัน(พระธรรมขันธ์) แต่เมื่อให้นับจริงๆ ก็นับไม่ถูกแท้จริงแล้ว อยากให้เห็นคำสอนใน “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” และใน “อนัตตลักขณสูตร” ให้มาก ก็เห็นจะพอ จะได้ไม่คิดว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าหรือ “ธรรมะ” นั้น มีมากมายเหลือเกิน จนเห็นเป็นเรื่องยากที่จะศึกษาให้ทั่วถึง น่าแปลกใจว่า ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ให้คำตอบครอบคลุมทุกเรื่องที่บอกว่ามีมากมายถึงแปดหมื่นสี่พันแล้ว ว่าไปแล้ว พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอริยสัจจ์ 4 และสอนเรื่องอริยมรรค(มี 8 ข้อ) อันเป็นไปเพื่อดับทุกข์คือความเกิด(ชาติ) ความแก่(ชรา) และ ความตาย(มรณะ)นั่นเอง ในเรื่องอริยสัจจ์ 5 น่าทึ่ง (น่าอัศจรรย์) อย่างยิ่ง คือการพบ(ด้วยปัญญา) ว่า ต้นเหตุของปัญญาทั้งมวลที่ทำให้เกิดทุกข์คือ “ตัณหา” แต่ชาวพุทธทั่วไป เข้าใจเรื่องตัณหาเป็นแค่กิเลสเท่านั้นไม่เข้าใจว่า ตัณหา ที่เป็นต้นเหตุให้มีการเกิด (การแก่และการตาย) ตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นอะไรแน่ หลักคำสอนเรื่องอริยสัจจ์ 4 ของพระพุทธเจ้านั้น เป็นเรื่องน่าทึ่ง น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เป็นความรู้ที่เกิดจากปัญญาเพ่งด้วยจิตใจที่เรียกว่าฌานหรือสมาธิ ไม่ใช่เรื่องที่คิดเอาด้วยเหตุผลแบบตรรกะ (logic) หรือเป็นความรู้แบบปรัชญา ทรงพบว่า ปัญหาที่แท้จริง(อริยสัจจ์) ของสัตว์โลกนั้นคือทุกข์ ทุกข์ที่ว่านี้ คือ ความเกิด (ชาติ) เมื่อมีความเกิด จึงมีความแก่(ชรา) ความทุกข์ทรมานต่างๆ และการตาย การที่จะไม่มีการแก่ ความทุกข์ทรมานต่างๆและการตาย ก็จะต้องไม่มีการเกิดอีก จึงพบว่า ต้องตัดที่ต้นเหตุคือ การเกิด(ชาติ) แล้วก็พบว่า ต้นเหตุของการเกิด คือ ตัณหา ตัณหาเป็นเรื่องที่น่ารู้น่าศึกษาที่สุด ตัณหาที่ทำให้มีการเกิดไม่สิ้นสุด(เป็นสังสารวัฏฏ์-การเวียนว่ายตายเกิดอย่างวนเวียน) มีลักษณะเป็นความยินดีอยากจะเกิดต่อไปนั่นเอง (นนฺทิราคสหคตา) เพลินในสิ่งที่ต้องการ (ถามตัณหา) เพลินในการอยากเป็นนั่นเป็นนี่ และเพลินใน(ความคิด) ที่ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น หรือแม้แต่ไม่อยากเกิดอีกต่อไป คำสอนแนวท่านพุทธทาสภิกขุ ที่สอนให้จิตว่าง (ไม่อยากเป็นไม่อยากได้อะไร) อย่าคิดว่าเป็นเรื่องง่าย เพราะอาจจะเป็นตัณหาอย่างหนึ่ง อย่างที่พระอานนท์ต้องการเป็นพระอรหันต์ให้ทันการสังคยามานั่นแหละ แม้พระอานนท์จะมีตัณหาที่ดี(คืออยากบรรลุธรรม) แต่ตัณหานั้นก็เป็นอุปสรรคแก่การบรรลุธรรมของท่านเอง เพราะท่านยังมี “ตัณหา” คำกล่าวที่ว่า ทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีเหมือนกัน หมายถึง เป็นคนดีที่ยังมีตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เป็นคำกล่าวที่ยังไม่ครอบคลุมสมบูรณ์ ความรู้ของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้ เรียกว่า “ญาณะ” เรียกว่า “จักขุ” (เห็นแจ้ง) เรียกว่า “ปัญญา” (รู้ทั่วถึงรอบด้าน) เรียกว่า “วิชชา” (รู้แจ้งชัด) และเรียกว่า “อาโลโก” (ความสว่าง) เป็นความรู้ที่ไม่เคยรู้จากที่ไหนมาก่อน ไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อน(ปุพฺเพ อนนุสฺสุ เตสุ อมฺเมสุ) มานึกดู ก็น่าอัศจรรย์ ว่าเรื่อง “ตัณหา” เป็นต้นเหตุอย่างแท้จริง ที่ทำให้มีการเกิดใหม่ไม่สิ้นสุด ในส่วนลึกของความปรารถนา ทุกคนล้วนแต่อยากได้นั่นได้นี่ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ อย่างนั้นอย่างนี้กันทั้งสิ้น ตัณหานี้แหละ ทำให้ต้องเกิดอีก(โปโนพฺภวิกา) วันหนึ่งได้นักดูล UFO (จานบิน) ดูถูกนักปฏิบัติธรรม(ชาวพุทธ) กันเองที่แต่งชุดขาวไปนั่งสมาธิเพื่อดู UFO ว่าเป็นพวกล้าหลัง หัวโบราณ แทนที่จะขนเครื่องไม้เครื่องมือ (ทางวิทยาศาสตร์) ไปศึกษาค้นคว้าดู UFO เหมือนฝรั่ง ก็อยากจะบอกว่า ฝรั่งเขาทำถูกแล้วที่จะพิสูจน์ UFO ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์อันเป็นวัตถุ แต่นักดู UFO ของไทยยังเถียงกันอยู่ว่า UFO เป็นพวกวัตถุหรือเป็นพวก “กายทิพย์”? ทำให้นึกเห็นวิธีเข้าถึงความจริงของพระพุทธเจ้า ที่ใช้สมาธิเป็นเครื่องมือในการศึกษาเรื่องตัณหา ซึ่งเป็นคนละวิธีกับพวกวัตถุนิยมอย่างนักดู UFO ทั้งหลาย นึกถึงพระสารีบุตร (อุปติสสะ) เมื่อได้ฟังคำสอนสั้นๆ จากปากพระอัสสชิที่ว่า “สิ่งใดเกิดแต่เหตุ สิ่งนั้นจะดับไปก็เพราะดับเหตุ) ท่านอุปติสสะได้ฟังก็เข้าใจทะลุปรุโปร่งถึงการเกิดใหม่ไปโน่น ท่านเข้าใจทันทีว่า นิพพานคืออะไร แล้วขอบวชเป็นพระภิกษุทันที แต่คงยากและคงอีกนานกว่าจะมีซีรีส์พระพุทธเจ้า “ที่ถ่ายทำและเผยแพร่ให้อัศจรรย์อย่างนั้นได้!