ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ผมแคล้วคลาดจากเหตุการณ์นองเลือดด้วย “กีฬา” โดยแท้ เช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จำได้ว่าเป็นวันอาทิตย์ที่ผมจะต้องไปร่วมการแข่งขันบาสเก็ตบอลรุ่นกลางของกรมพลศึกษาในฐานะสตาฟฟ์ทีมโรงเรียน (ความจริงผมเล่นในทีมรุ่นเล็ก แต่มาช่วยทีมรุ่นกลางบริการน้ำท่าและช่วยดูแลเวลาที่นักกีฬาบาดเจ็บ) สักตีห้ากว่าๆ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่คุมมวลชนอยู่ด้านนอกสวนจิตรลดารโหฐาน ริมคลองระบายน้ำที่ติดกับด้านหลังของสนามเสือป่า ได้ประกาศผ่านเครื่องกระจายเสียงว่า จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ยอมที่จะให้มีรัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน ขอให้พี่น้องที่ร่วมชุมนุมแยกย้ายกันกลับบ้านได้ ผมก็เดินมาทางวัดเบญจมบพิตรเพื่อขึ้นรถเมล์กลับบ้านเช่าแถวประตูน้ำ นอนพักเอาแรงอยู่ 2-3 ชั่วโมง ก็อาบน้ำแต่งตัวจะไปอาคารนิมิบุตร ยิมเนเซียม 1 ที่สนามกีฬาแห่งชาติ (ด้านข้างศูนย์การค้ามาบุญครองในปัจจุบัน) แต่พอเปิดวิทยุฟังก็ทราบว่ามีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับทหารตำรวจที่ถนนราชดำเนิน รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน การแข่งขันเลยยกเลิก ผมมาทราบภายหลังว่าการปะทะกันเริ่มที่มุมสวนจิตรฯด้านตรงข้ามเขาดินวนาเยื้องกับโรงเรียนวชิราวุธ เพราะตำรวจไปกั้นประชาชนแล้วเกิดการกระทบกระทั่งกัน มีคนร้องว่าตำรวจทำร้ายประชาชนแล้วส่งข่าวกันแบบปากต่อปาก จึงทำให้มีผู้กระจายกันไปเผาทำลายสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น ตึกสำนักงานสลากกินแบ่งตรงข้ามโรงแรมรัตนโกสินทร์ ตึกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตตรงหัวมุมสี่แยกคอกวัว เป็นต้น แล้วมีทหารเอาเฮลิคอปเตอร์บินขึ้นกราดยิงประชาชนตามถนนราชดำเนิน การกวาดล้างประชาชนดำเนินไปอย่างโหดเหี้ยม ดังที่ปรากฏเป็นภาพข่าวในวันต่อมา และเรียกวันนั้นว่า “วันมหาวิปโยค” ซึ่งจบลงด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำรัสยุติเหตุการณ์ด้วยพระอัสสุชลนองพระเนตรในค่ำวันนั้น ด้วยความโทมนัสที่ประชาชนต้องมาสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ พวกเราไว้อาลัยให้พี่คนดังกล่าวและสรรเสริญว่าเป็น “วีรชน” เช่นเดียวกันกับผู้เสียชีวิตจำนวนนับร้อยที่ได้ชื่อว่าวีรชนนี้เช่นกัน บรรยากาศในโรงเรียนเต็มไปด้วยความโศกเศร้า นักเรียนจำนวนมากเอาชิ้นผ้าสีดำเล็กๆ มากลัดที่แขนซ้าย เป็นการไว้อาลัยแก่วีรชนดังกล่าว ครูบุษบาบอกกับพวกเราในวันหนึ่งว่า โรงเรียนจะมีพิธีสงฆ์อุทิศส่วนกุศลให้แก่พี่และวีรชนที่เสียชีวิต ซึ่งพวกเราก็ให้ความร่วมมืออย่างกระตือรือร้น หลังจากการทำบุญในวันนั้นพวกเรารู้สึกว่าชีวิตวัยรุ่นของพวกเราเปลี่ยนไป เหมือนว่าเราจะต้องร่วมรับผิดชอบบ้านเมืองมากขึ้น แทนที่จะสนุกสนานตามประสาวัยรุ่น รุ่งขึ้นอีกปีผมขึ้นชั้นไปเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีการเสนอจัดตั้งสภานักเรียนและจัดทำ “ธรรมนูญนักเรียน” มีการเสนอตัวกันเป็นประธานนักเรียนและคณะกรรมการนักเรียน ผมได้รับเลือกให้เป็นรองประธานนักเรียน นโยบายของคณะกรรมการค่อนข้างหวือหวา บางอย่างก็ดูขวางๆ เช่น ไม่อยากให้สอนวรรณคดีไทยเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งมอมเมาและเป็น “ศักดินา” จนครูหลายๆ ท่านมองว่าพวกเราเป็นคอมมิวนิสต์ ปีนั้นพวกเราจะต้องมีการเรียนรักษาดินแดน หลายคนไม่เรียนเพราะไม่อยากรับใช้ทหาร (ช่วงนั้นทหารมีภาพลักษณ์ตกต่ำมาก เพราะประชาชนยังเคียดแค้นและรังเกียจอยู่ อันเป็นผลจากความโหดเหี้ยมในเหตุการณ์วันมหาวิปโยค) ทหารชั้นผู้น้อยจำนวนหนึ่งที่ต้องนั่งรถเมล์ไปทำงานไม่กล้าแต่งเครื่องแบบขึ้นรถเมล์ ต้องเอาเครื่องแบบนั้นใส่ถุงใส่กระเป๋าไปเปลี่ยนที่ทำงาน) นักเรียนชอบไว้ผมยาว ทางโรงเรียนก็พยายามขอร้องให้แต่งกายอยู่ในระเบียบ แต่ดูเหมือนยิ่งห้ามก็ยิ่งยุ เพราะละเมิดลามปามไปถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอื่น เช่น ใส่รองเท้าแตะมาเรียน หรือสะพายย่ามแทนกระเป๋านักเรียน เป็นต้น เพราะนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้เผยแพร่ความคิดเรื่อง “เสรีชน” และแฟชั่น “5 ย” คือ ผมยาว เสื้อยับ กางเกงยีนส์ สะพายย่าม และรองเท้ายาง ชีวิตแบบเสรีชนยังคงฮือฮาต่อไป หลายคนไม่ค่อยเข้าเรียน เพราะถือว่าชีวิตของเราต้องเลือกเอง บ่ายวันหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์ “รุนแรง” ขึ้นในโรงเรียน เพราะมีกลุ่มควันขึ้นข้างสนามหน้าโรงเสาธง ปรากฏว่ามีนักเรียน 10 กว่าคนเอาหนังสือวรรณคดีมากองเผา ท่านผู้อำนวยการให้ลงโทษนักเรียนกลุ่มนั้นโดยการภาคทัณฑ์ แต่หัวหน้ากลุ่มคงจะทุ่มเถียงไม่เลิกรา เพราะต่อมาได้ถูกเชิญให้ไปเรียนที่อื่น(คือไล่ออกนั่นเอง) ปีต่อมาพวกเราก็ขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ตอนนี้บรรยากาศดูจะเบาๆ ลง เพราะจะต้องมุ่งมั่นเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ผมเองก็เพิ่งมานึกได้ว่าเราจะต้องเตรียมพร้อม แต่ดูเหมือนว่าชีวิตได้พังไปแล้วในช่วงปีก่อนนั้น เพราะเอาแต่ทำกิจกรรม นอกจากจะเป็นรองประธานนักเรียนแล้ว ยังเป็นประธานชุมนุมสังคมศึกษา ซึ่งใน พ.ศ. 2517 โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์จับคู่กันกับโรงเรียนสตรีวิทยาร่วมกันจัดงาน “สังคมนิทรรศน์” ซึ่งเป็นงานระดับชาติในหมู่โรงเรียนมัธยมของรัฐในกรุงเทพฯและปริมณฑล ผมจึงสนุกสนานกับการทำงานอยู่ตลอดปี ในตอนปลายปี 2518 ที่จะต้องไปสมัครสอบเอนทรานซ์ ผมต้องขอใบรับรองผลการเรียนจากคุณครูประจำชั้น(สมัยก่อนเรียกว่า “ใบสุทธิ”)เพื่อประกอบใบสมัครเข้าสอบ คุณครูประจำชั้นของผมคือคุณครูส่งศรี ศรีมุกดา ได้ให้ผมไปรับที่ห้องพักครู ผมยังจำคำพูดของคุณครูได้ขึ้นใจ เพราะนั่นคือคำพูดที่ทำให้ชีวิตผม “ผกผัน” ครั้งใหญ่อีกครั้ง ในประโยคที่ว่า “นี่เธอสอบได้แค่ 58 เปอร์เซ็นต์ คิดจะไปเรียนที่ไหนหรือ อย่าลืมเลือกรามคำแหงไว้ด้วยนะ” ถ้อยคำอาจจะดูเสียดสี แต่เมื่อผมมองหน้าคุณครูแม้จะดูเศร้าๆ แต่ก็ยังคงมีร่องรอยของความรักความเมตตาอยู่เต็มหน้า ผมจำภาพใบหน้าคุณครูมานั่งคิด แล้วก็เกิด “แรงฮึด” ว่าเราต้องพยายามให้เต็มที่ ผมเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์เพราะอยากเรียนทางวิศวะและสถาปัตย์ที่ผมชอบมาตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น แต่พอผมมาดูคะแนนในวิชากลุ่มวิทยาศาสตร์ทั้งหลายก็ให้หดหู่ใจ เพราะได้คะแนนเกือบตกแทบทั้งนั้น วันหนึ่งผมเจอครูบุษบา เธอคงสังเกตว่าผมหน้าตาไม่ค่อยเสบย เลยเอ่ยถามว่ามีเรื่องอะไร ผมก็เล่าความกลุ้มใจให้คุณครูฟัง ซึ่งคำปลอบประโลมและคำแนะนำของคุณครูได้ช่วยชีวิตผมให้ “พลิกฟื้น” “นายก๋อย นายไม่ได้แย่ไปเสียทั้งหมด วิชาวิทยาศาสตร์อาจจะใช้ไม่ได้ แต่วิชาอื่นๆ ยังโอเคนี่ เอาวิชาเหล่านั้นแหละไปเลือกคณะเข้าเรียน... ชีวิตเราไม่ใช่เส้นตรง มันต้องคดเคี้ยวหลบหลีกเอาตัวให้รอด ชีวิตที่เราจะสร้างขึ้นใหม่ อาจจะดีกว่าชีวิตที่ใฝ่ฝันไว้แต่วันวานนั้นก็ได้”