ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย สำนักข่าวชินหัวของจีนได้เผยแพร่คำแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มิ.ย. 2020 ว่าจีนยืนหยัดอย่างชัดเจนและไม่เปลี่ยนแปลง ว่าจะไม่เข้าร่วมการเจรจาการควบคุมอาวุธระดับไตรภาคี จีน-สหรัฐฯ-รัสเซีย หลังจากถูกสื่อต่างประเทศสอบถามถึงความเห็นที่มีต่อคำกล่าวของมาร์แชล บิลลิงส์ลี (Marshall Billingslea) ทูตพิเศษของสหรัฐฯ ด้านการควบคุมอาวุธที่เรียกร้องให้จีนได้ทบทวนการตัดสินใจใหม่ เพื่อการเข้าร่วมเจรจาไตรภาคีในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้นายฮว่าชุนอิ๋ง ได้ให้คำอธิบายว่า “อย่างที่ทุกคนรู้ พลานุภาพนิวเคลียร์ของจีนไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกันกับสหรัฐฯ และรัสเซีย ขณะนี้จึงยังไม่ใช่เวลาอันเหมาะสมที่จีนจะเข้าร่วมการเจรจา ลดอาวุธนิวเคลียร์” โดยเขากล่าวว่า “ผู้ที่ครอบครองคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุด มีภาระหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบเป็นพิเศษและก่อนผู้อื่นในการลดอาวุธนิวเคลียร์” อนึ่งจีนได้ชี้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันสหรัฐฯควรตอบรับข้อเรียกร้องของรัสเซีย ที่จะให้มีการต่ออายุสัญญาการลดอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่ ทันทีที่สัญญาฉบับเก่าหมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ 2021และ ให้ก้าวต่อไปในการเดินหน้าลดปริมาณอาวุธนิวเคลียร์ลงอย่างมาก จนเกิดเงื่อนไขที่จะทำให้มีการเจรจาลดหรือกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ในระดับพหุพาคี นั่นคือทำให้ประเทศอื่นๆนอกจากสหรัฐฯ รัสเซียและจีนที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เข้าร่วมทำข้อตกลงด้วย อย่างเช่น อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล และเกาหลีเหนือ รวมทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามข้อเสนอของสหรัฐฯที่เร่งเร้าให้จีนเข้าทำข้อตกลงจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ด้วยนั้น ด้านหนึ่งอาจจะดูว่ามีเจตนาดีเพื่อควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นสหรัฐฯรู้ดีอยู่แล้วว่าจีนไม่ยอมตกลงด้วยแน่นอน จึงทำเป็นยื่นข้อเสนอ เพื่อจะได้นำไปเป็นข้ออ้าง 2 ประการด้วยกันคือ ประการแรกต้องการสร้างเป็นเงื่อนไขที่จะไม่ต่อสัญญา START กับรัสเซียหากจีนไม่ร่วมด้วย ประการต่อมาเพื่ออาศัยเป็นเหตุอันอ้างได้ว่าจีนไม่ประสงค์จะควบคุมอาวุธนิวเคลียร์และอาจเป็นภัยต่อสันติภาพโลก ดังนั้นหากสหรัฐฯจะใช้มาตรการที่แข็งกร้าวทางทหารกับจีนก็จะทำให้สหรัฐฯดูมีความชอบธรรมในสายตาชาวโลก แต่หากเรามองย้อนกลับไปดูพฤติกรรมของสหรัฐฯก่อนมาถึงวันนี้จะเห็นได้ว่าสหรัฐฯวางแนวทางที่จะยกเลิกสัญญาจำกัดอาวุธนิวเคลียร์มาเป็นขั้นตอนอยู่ก่อนแล้ว นับแต่วันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นครองอำนาจ เริ่มจากสหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลงที่ได้ทำไว้แล้วกับชาติมหาอำนาจ 5 ชาติ และเยอรมนีกับอิหร่านที่เรียกว่า JCPOA (Joint Comprehensive Plan Of Action) ต่อมาก็คือการถอนตัวจากสนธิสัญญาจำกัดอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty) และสุดท้ายสหรัฐฯก็ถอนตัวออกจากสนธิสัญญาเปิดน่านฟ้า (เพื่อการตรวจสอบทางทหาร) Open Skies Treaty ซึ่งสหรัฐฯอ้างว่ารัสเซียได้ละเมิดสัญญานี้ก่อน เช่นเดียวกันกับกรณีที่ยกเลิกสนธิสัญญาจำกัดอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) และทันทีที่ยกเลิกข้อตกลง สหรัฐฯก็ประกาศถึงโครงการพัฒนาอาวุธชนิดใหม่ ซึ่งแสดงว่าได้เตรียมการมาแล้ว การยกเลิกสนธิสัญญาเปิดน่านฟ้านี้ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อบรรดาพันธมิตรนาโต้ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ หรือเยอรมนีเพราะหลายประเทศเชื่อว่าสนธิสัญญานี้จะช่วยให้เกิดความไว้วางใจในการควบคุมมิให้เกิดสงครามระหว่างสองค่ายสองขั้วได้ และเหตุที่สหรัฐฯอ้างก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผลนักเมื่อรัสเซียปฏิเสธไม่ให้สหรัฐฯบินเข้าไปสำรวจในเขตชายแดนทะเลบอลติคและจอร์เจีย โดยรัสเซียอ้างว่ากำลังทำการซ้อมรบเกรงจะไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ที่ผ่านมาฝ่ายสหรัฐฯได้เข้าตรวจสอบรัสเซียมากกว่าที่รัสเซียตรวจสอบสหรัฐฯถึง 3 เท่า ประเด็นจึงอยู่ที่ความไม่น่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในการรักษาสัญญาทางทหารระหว่างประเทศ ด้วยการยกเลิกสัญญาถึง 3 ฉบับ จะทำให้ประเทศอื่นๆโดยเฉพาะอย่างเกาหลีเหนือมั่นใจได้อย่างไรกับการคุกคามทางทหารของตะวันตก และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์มากขึ้น แต่ที่สำคัญก็คือท่าทีของสหรัฐฯที่ยกเลิกสนธิสัญญาไปถึง 3 ฉบับแล้ว ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมมิให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ บ่งบอกถึงท่าทีของวอชิงตันที่จะไม่ยอมต่อสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ (Strategic Arms Reduction Treaty-Start) จึงคาดหมายได้ว่าการจัดให้มีการประชุม 5 ชาติมหาอำนาจของสหประชาชาติในเดือนกันยายน นั่นคือการประชุมของสหรัฐฯ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีนที่จะมีขึ้นคงไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะสหรัฐฯคงจะตั้งเงื่อนไขจนทำให้สัญญานี้หมดสภาพไปโดยปริยาย แม้ว่าคณะผู้บริหารที่วอชิงตันจะถูกวิพากษ์จากส.ส. Alcee Hastings ประธานกรรมาธิการ ข้อตกลงเฮลชิงกิของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พยายามจะออกกฎหมายห้ามประธานาธิบดียกเลิกสัญญาระหว่างประเทศ โดยไม่ผ่านการอนุมัติของสภาผู้แทนราษฎร แต่กม.คงไม่ผ่านกระบวนการในสภา โดยเฉพาะวุฒิสภา สำหรับกลุ่มประเทศในอาเซียนที่เคยประกาศนโยบายร่วมกันที่จะให้ภูมิภาคนี้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ การเผชิญหน้าและท่าทีของสหรัฐฯย่อมก่อให้เกิดผลประทบต่อความมั่นคงของภูมิภาคและแต่ละประเทศ ประเทศไทยจึงควรริเริ่มที่จะดำเนินการชักจูงให้อาเซียนได้ร่วมกันผนึกกำลังกับประเทศอื่นๆที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ได้ร่วมกันกดดันในองค์การสหประชาชาติ ตลอดจนใช้มาตรการอื่นๆเพื่อให้เกิดสันติภาพและปลอดภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ ที่แม้ว่ามหาอำนาจจะระงับยับยั้งชั่งใจในการใช้ แต่การไม่มีมาตรการควบคุมที่รัดกุมก็อาจเกิดสงครามนิวเคลียร์โดยอุบัติเหตุได้ แม้ว่าปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่แต่ละประเทศกำลังเผชิญอยู่ ประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงจากนโยบายต่อสู้กับโควิดอย่างเข้มแข็ง แต่ขาดการวางแผนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม นอกจากหวังพึ่งโครงการเก่าเก็บจากหน่วยงานของราชการ การใช้เงินกู้ 1.9 ล้านๆ ที่มีโอกาสรั่วไหลและไม่ตรงเป้าก็จะมีผลทำให้เศรษฐกิจยากฟื้นตัวในระยะ 2-3 ปีนี้ แต่ก็มิได้หมายความว่ากิจกรรมทางการเมืองระหว่างประเทศจะต้องพลอยปล่อยวางไปด้วย ตรงข้ามการเดินหมากที่ชาญฉลาดทางการเมืองระหว่างประเทศจะทำให้ประเทศไทยมีภาวการณ์นำ และสร้างสัมพันธ์อันดีในทางเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือ ในการสร้างพลังที่จะเอาชนะความตกต่ำทางเศรษฐกิจ และก้าวขึ้นสู่ความเฟื่องฟูอีกครั้งในระยะเวลาอันไม่นาน ดีกว่าการแก้ปัญหาโดยลำพัง ท่ามกลางความไม่มั่นคงทางการเมืองภายใน ที่ไม่มีจุดขายอะไรเลยในการสร้างความเชื่อมั่นสำหรับประชาชนในประเทศ ยิ่งเน้นการกระชับอำนาจ ก็ยิ่งจะทำให้ความไม่มั่นคงยิ่งสั่นคลอน เมื่อการเมืองไม่มั่นคง การแก้ปัญหาชาติยิ่งเป็นไปได้ยากยิ่ง แต่หากให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศด้วยการกระจายอำนาจ และมีการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสในการบริหาร ต่างชาติก็จะยิ่งให้ความนับถือและร่วมมือกับเรามากขึ้น ในการนำเพื่อไปสู่สันติภาพและความเจริญพัฒนาของภูมิภาคร่วมกัน