ดร. นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในภาคท่องเที่ยวได้ยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยควบคู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ซึ่งกิจกรรมมินิคาราวานซ่อมสร้างการท่องเที่ยวไทยในโปรแกรมชวนพักรักสุขภาพ กับนักรบเสื้อขาว ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และผู้ประกอบการทางภาคอีสาน ในครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงทิศทางการปรับตัวเตรียมรับ New Normal หลังวิกฤติโควิด-19 และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภาคอีสาน อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น
ด้าน นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการส่งเสริมการขายและสนับสนุนการตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศเเสริมสร้างความร่วมมือ และความเชื่อมั่นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศหลังปลดล็อก โดยได้ร่วมกับทางสมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในภาคอีสาน
โดยโครงการมินิคาราวานซ่อมสร้างการท่องเที่ยวไทย ถือเป็น role model ในการเปิดตัวการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่หลังวิกฤติโควิด – 19 และความพร้อมของภาคการท่องเที่ยวอีสาน ที่จะรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น มีแนวทางวิถีชีวิต ความเป็นความเป็นอยู่ วัฒนธรรมท้องถิ่นขออีสานมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเหมาะกับการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับนโยบายด้านสาธารณสุข
ส่วนนางวสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน (สอทอ.) กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทนำเที่ยวกลุ่ม DMC We Love Isan ได้เลือกเส้นทางท่องเที่ยว 9 เส้นทางในภาคอีสาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่ด้วยการขับรถเที่ยว เป็นคาราวาน หรือ Self Drive และ Find Drive ให้กับนักท่องเที่ยวมั่นใจในเส้นทางภาคอีสานมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอีสาน ด้วยโครงการ เจ้าถิ่นอีสานออนไลน์ ภายใต้แบรนด์สินค้า Buff มีสมาชิก 19 ราย 19 เจ้าถิ่น ดูแลรับผิดชอบ 20 จังหวัดในอีสาน ที่รวบรวมสินค้าทางการท่องเที่ยวหมวดต่าง ๆ และช่วยกันออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยว โดยใช้จุดแข็งในการเป็นเครือข่ายบริษัทนำเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ 20 จังหวัด เพื่อนำขึ้นเสนอขายบน Social Media Platform ในชื่อเว็บไซต์ www.ebuffesan.com Facebook และ Line ซึ่งเป็นการผนวกและประยุกต์การเป็นผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ Online Travel Agency (OTA) มาผสมผสานกับความเป็นบริษัทนำเที่ยวในพื้นที่ (เจ้าถิ่น) เกิดเป็นทางเลือกใหม่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าท่องเที่ยวและบริการในท้องถิ่น ในยุคการท่องเที่ยวแบบ New Normal
ขณะที่ นางพรทิพย์ อัษฏาธร กรรมการผู้จัดการเพลาเพลิน บุรีรัมย์ กล่าวว่า ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานตามหลักมาตราฐานสากล โดยมีสัญลักษณ์ของ SHA (Amazing Thailand Safety& Health Administration) ซึ่งทางเพลาเพลิน ได้รับมาตรฐานรับรองนี้เป็นสถานประกอบการแรกของจังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นการนำร่องการท่องเที่ยวในครั้งนี้ โดยมีการยกระดับความสะอาดและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นรับวิถี New Normal ทั่วทั้งบริเวณ