เป็นอีกหนึ่งชาติในเอเชียที่มีความก้าวหน้าในการสำรวจอวกาศ ซึ่ง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “ประเทศแถบตะวันออกกลางกับ “ความหวังสู่ดาวอังคาร” ส่งยานมุ่งหน้าสำรวจดาวเคราะห์แดง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีหลายประเทศหมายตาดาวอังคารเป็นจุดหมายที่จะส่งยานไปสำรวจ ทั้งรัสเซีย สหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย จีน และญี่ปุ่น และในอนาคตอันใกล้นี้ มีอีกหนึ่งชาติที่จะร่วมส่งยานไปสำรวจดาวอังคารด้วย นั่นคือ “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” ชาติอาหรับจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ยานโฮป (Hope) หรือในชื่อโครงการเต็ม Hope Mars Mission และชื่อยานในภาษาอาหรับว่า “อัลอะมัล” (الأمل แปลว่า ความหวัง) เป็นยานประเภทโคจรรอบดาว (Orbiter) เพื่อสำรวจดาวอังคารของศูนย์อวกาศมุฮัมมัด บิน รอชิด (Mohammed bin Rashid Space Centre / MBRSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการอวกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประกอบและผลิตโดยห้องปฏิบัติการฟิสิกส์บรรยากาศและอวกาศ มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ สหรัฐฯ และยานโฮป ยังเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นอีก 2 แห่งในสหรัฐฯ เมื่อยานโฮปถูกประกอบเสร็จแล้ว จะขนส่งจากสหรัฐฯไปยังญี่ปุ่น เพื่อติดตั้งบนจรวด H-IIA (H-2A) ซึ่งจะมีกำหนดปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 (ตามเวลาประเทศไทย) จากศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น จึงกล่าวได้ว่ายานโฮปเป็นยานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ผลิตและส่งขึ้นสู่อวกาศโดยต่างประเทศ และยังเป็นอีกประเทศหนึ่งที่จะปล่อยยานไปสำรวจดาวอังคารในช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะถึง เช่นเดียวกับสหรัฐฯที่จะปล่อยยานเพอร์เซเวียแรนซ์ และจีนที่จะปล่อยยานเทียนเวิ่น เนื่องจากดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในปีนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะปล่อยยาน ยานโฮปมีภารกิจการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้ - ศึกษาวัฏจักรของสภาพอากาศในรอบวันและฤดูกาลในรอบปีของดาวอังคาร - ศึกษาสภาพอากาศในบรรยากาศชั้นล่างของดาวอังคาร (เช่น พายุฝุ่น) - ศึกษาความแตกต่างทางสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่บนดาวอังคาร - ศึกษากระบวนการสูญเสียแก๊สจากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารสู่อวกาศ จากภารกิจการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ของยานโฮป ตัวยานจึงมีอุปกรณ์ตรวจวัดบรรยากาศดาวอังคาร 3 ตัว ประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงหลายย่านความยาวคลื่นที่ใช้ตรวจวัดฝุ่นและโอโซนในบรรยากาศ อุปกรณ์ตรวจวัดสเปกตรัมในช่วงรังสีอินฟราเรด ใช้ศึกษาบรรยากาศชั้นล่างของดาวอังคาร และอุปกรณ์ตรวจวัดสเปกตรัมในช่วงรังสีอัลตราไวโอเลต ใช้ตรวจวัดระดับของไฮโดรเจนและออกซิเจน หากการปล่อยยานสู่อวกาศและการเดินทางสู่ดาวอังคารเป็นไปอย่างราบรื่น ยานจะใช้เวลาเดินทางไปยังดาวอังคารนาน 7 เดือน กำหนดถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการครบรอบ 50 ปีที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเอกราช ทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คาดหวังว่ายานโฮปจะสามารถปฏิบัติภารกิจในวงโคจรรอบดาวอังคารได้นาน 2 ปี โครงการยานสำรวจดาวอังคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ประกาศเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 โดยเชคเคาะลีฟะฮ์ บิน ซายิด อัลนะฮ์ยาน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้กับบุคลากรประเทศและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับบรรยากาศของดาวอังคาร และเลือกชื่อ “โฮป” กับ “อัลอะมัล” ให้ยานสำรวจดาวอังคารลำนี้ เพื่อสื่อถึงการมองโลกในแง่ดีของชาวอาหรับรุ่นใหม่นับล้านคน เรามาร่วมลุ้นกันว่าก้าวแรกและความหวังของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการสำรวจระบบสุริยะ จะประสบความสำเร็จจนสามารถเป็นหนึ่งในชาติเอเชียที่มีความก้าวหน้าในการสำรวจอวกาศ ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น จีน และรัสเซียหรือไม่ เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : [1] https://nssdc.gsfc.nasa.gov/nmc/spacecraft/display.action?id=EMM-HOPE [2] https://www.bbc.com/news/world-middle-east-52973849