อบต.บ้านผึ้ง นำร่อง ชวนตายายแต่งชุดนักเรียน เปิดโรงเรียนผู้สูงอายุ ต้นแบบเน้นสร้างความร่วมมือชุมชน เมินงบประมาณภาครัฐ สร้างความสุขต่ออายุคนชรา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 ที่วัดบ้านหนองปลาดุก ต.บ้านผึ้ง อ.เมืองนครพนม ด.ต.พิทักษ์ ต่อยอด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง อ.เมืองนครพนม พร้อมด้วย ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ร่วมเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบนำร่อง ตามนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชน ตลอดจนลูกหลานเยาวชน ได้สำนึกต่อผู้มรพระคุณ และตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ หรือพ่อแม่บุพการี ลดปัญหาการถูกทอดทิ้ง เนื่องจากสังคมปัจจุบัน เริ่มมีปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ทาง องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง จึงได้สร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน คือ บ้าน วัด โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล จัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้น จำนวน 3 แห่ง โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดตั้ง ประกอบด้วย โรงเรียนผู้สูงอายุวัดบ้านหนองปลาดุก หมู่ 22 โรงเรียนผู้สูงอายุวัดสันตยาภิรมย์ บ้านผึ้งหมู่ 2 และ วัดบ้านนาโพธิ์ หมู่ที่ 17 เพื่อดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ รับผิดชอบ จำนวน 23 หมู่บ้าน มีผู้สูงอายุมากถึง 1,800 คน อายุระหว่าง 60 -80 ปี ซึ่งในการดำเนินการ จะใช้ความร่วมมือของชุมชนเป็นหลัก และไม่ใช้งบประมาณภาครัฐ โดย ด.ต.พิทักษ์ ต่อยอด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง อ.เมืองนครพนม กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ ต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม มีชุมชนหมู่บ้าน 23 หมู่บ้าน มีประชากร มากถึง 17,000 คน และมีผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแล มากถึง 1,800 คน ดังนั้น นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคต่างๆ หรือการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว ทาง อบต.บ้านผึ้ง ยังได้ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การพัฒนาคน เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านอื่นๆ ทั้งลูกหลานเยาวชน ไปจนถึงผู้สูงอายุ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนา เพราะปัจจุบันสังคม เริ่มไม่ให้ความสำคัญผู้สูงอายุ ถูกลูกหลายปล่อยปะละเลย ขาดการดูแลที่ดี บางรายเกิดปัญหาซึมเศร้า เป็นที่มาของการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบ เป็นการนำร่อง ดำเนินการเปิดรวม 3 จุด เพื่อรองรับนำผู้สูงอายุ เข้ามาดูแล จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจะไม่มีการจัดทำหลักสูตร หรือเรื่องวิชาการ แต่จะเน้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชน การจัดกิจกรรมนันทนาการ การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเป็นหลัก รวมถึงการให้ความสำคัญในการนำปูชนียบุคคล หรือปราชย์ชาวบ้าน มาต่อยอด ในการสืบสานประเพณี หรือขนบธรรมเนียมอันดีงามของท้องถิ่น แก่ลูกหลานเยาวชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ส่งเสริมสนับสนุนต่อยอดไม่ให้สูญหาย สำหรับรูปแบบการเรียนการสอน จะเริ่มสร้างความสนใจ เป็นการกระตุ้นด้วยการ เชิญชวนให้ผู้สูงอายุ นความรับผิดชอบ ได้สวมชุดนักเรียน เป็นการสร้างสีสัน ดึงดูดความสนใจแก่ชุมชน ลูกหลาน ได้สนับสนุนให้ ปู่ ย่าตายาย ได้มาร่วมกิจกรรม เข่าโรงเรียน กำหนดเบื้องต้น เดือนละ 2 ครั้ง เริ่มจากการทำกิจกรรมหน้าเสาธง เคารพธงชาติ สวดมนต์ไหว้พระ การตรวจสุขภาพร่างกาย รวมถึงให้คำปรึกษาจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ไปจนถึงการรับฟังบรรยายพิเศษจากวิทยากรจิตอาสา และร่วมกิจกรรมนันทนาการ เน้นความบันเทิงสนุกสนาน ให้ผู้สูงอายุได้มีความสุข ตลอดจนได้ร่วมแสดงออกในกิจกรรมต่างๆ ที่จะสร้างความสำคัญให้ผู้สูงอายุ ได้มีความสุข ลดความเครียด สร้างรอยยิ้ม และความอบอุ่น เพราะจะได้มีโอกาสพบปะพูดคุย รับประทานอาหารร่วมกัน และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุได้ประมาณ 1 -2 เดือน พบว่าได้ประโยชน์ เป็นที่น่าพอใจ และมีผู้สูงอายุให้ความสนใจมาร่วมกิจกรรมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุ มีสุขภาพจิตใจดีขึ้น บางคนมีอาการป่วยซึมเศร้าทำให้มีอาการดีขึ้น ออกมาพบปะพูดคุยกับชุมชน ที่สำคัญในการดำเนินการจะเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม ความรักสามัคคีในชุมชน และไม่ใช้งบประมาณของภาครัฐ รวมทั้งบุคลากร เจ้าหน้าที่ จะมาจากจิตอาสาทั้งหมด รวมไปถึงข้าวปลาอาหาร จะนำมาจากบ้าน เพื่อรับประทานร่วมกัน ซึ่งจะเดินหน้าพัฒนาให้เป็นโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบระดับจังหวัด และเป็นที่ศึกษาดูงานของ อปท. พร้อมวางแผนขยายไปยังชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้น