80 องค์กรภาคีเครือข่ายทั่วประเทศบุกสภาร้อง "ครูหยุย" หยุดความรุนแรงจากเกม 8 ข้อ ชี้ก่อปัญหาสังคมระยะยาว พร้อมสนับสนุนให้ยกวาระรู้เท่าทันสื่อเป็นวาระแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่รัฐสภา ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก รองประธานคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อวุฒิสภา และภาคีเครือข่ายด้านเด็กด้านสุขภาพ และด้านสังคมกว่า 80 องค์กรจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ยื่นหนังสือให้ นายวัลลภ ตังคนานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เพื่อเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมหยุดความรุนแรงจากเกม โดยเฉพาะภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในการกำหนดนโยบายและแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้สนใจและกำหนดท่าทีที่ชัดเจนต่อปัญหาจากการใช้สื่อของเด็ก
ดร.ธีรารัตน์ กล่าวว่า ขให้ทุกภาคส่วนร่วมหยุดความรุนแรงจากเกม โดยเฉพาะภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในการกำหนดนโยบายและแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจนแสดงออกถึงความรุนแรงถึงชีวิต ต่อคนรอบข้างตามข่าวที่ปรากฏมาตลอด จนทำให้เกิดปัญหาครอบครัวสังคม และสูญเสียกำลังสำคัญที่เป็นทรัพยากรบุคคลของชาติในอนาคต จึงมีข้อเรียกร้อง 8 ประการ เพื่อให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน อาทิ การผลักดันให้มีกฎหมายกำกับดูแลเกม และการประกอบกิจการเกม เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนการส่งเสริมสนับสนุนให้มีแผนปฎิบัติการแสดงความรับผิดชอบเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อเด็กและเยาวชน การผลักดันให้สร้างความตระหนักเรื่องการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชนให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนเป็นองค์กรขับเคลื่อนการกำหนดให้กลไกทุกระดับสร้างความตระหนักสาธารณะด้วยการจัดเวทีสาธารณะและกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพบุคลากร เพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์สำหรับเด็กและบุคคลแวดล้อมพร้อมผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ได้จริงอย่างทั่วถึง รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหลากหลายจริงจัง เป็นรูปธรรม ด้วยการสนับสนุนโดยตรงจากภาครัฐ ไม่ควรให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญภาวะต่อสู้เพื่อความอยู่รอดเพียงลำพัง
ด้านนายวัลลภ กล่าวว่า จะนำข้อเรียกร้องไปดำเนินการต่อโดยเร็ว เพราะมีหลายข้อที่วุฒิสภาดำเนินการอยู่แล้ว และมีหลายช่องทางที่วุฒิสภาต้องเร่งผลักดัน โดยเฉพาะกองทุนสื่อสร้างสรรค์ที่วุฒิสภาให้ความสำคัญ โดยเชื่อว่า จะสามารถผลิตสื่อออกมาได้อย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน
