รายงาน: ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แนะเลี้ยงไก่ไข่แบบอารมณ์ดีในพื้นที่สวน ได้ประโยชน์หลายทาง ไก่ออกไข่มาก ลดค่าอาหารไก่ ช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืช ได้ปุ๋ยธรรมชาติ ต้นไม้ผลผลิตดีสมบูรณ์ รสชาติอร่อย ลดต้นทุนด้านการผลิตให้เกษตรกรเพิ่มกำไรมากขึ้น นายโรจน์วัฒน์ อินทร์ทุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า จากสภาพภูมิประเทศและทรัพยากร ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆ จึงมีการศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตของราษฎรเพื่อหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาสำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 เพื่อเป็นแบบจำลองและเป็นพื้นที่ส่วนย่อที่มีความเหมาะสม สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ สำหรับการพัฒนาให้ภูมิภาคนี้เกิดความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ได้มีการศึกษาทดลองเพื่อหาคำตอบ และข้อสรุปในการทำการผลิตหลากหลายรูปแบบ เมื่อได้ข้อยุติแล้วจึงนำมาจัดทำเป็นแปลงสาธิตเพื่อเป็นสถานที่ให้ราษฎรและประชาชนทั่วไปที่สนใจ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ควบคู่กับการขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของราษฎรในพื้นที่ ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงให้กับผู้ที่นำไปปฏิบัติใช้ หนึ่งในนั้นคือการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่พืชสวน ซึ่งศูนย์ฯ ได้จัดทำแปลงสาธิตขึ้นมาบริเวณพื้นที่โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในส่วนที่ใช้ปลูกพืชสวนแบบไม้ให้ผล โดยปล่อยให้ไก่ไข่อยู่ตามธรรมชาติแบบอิสระ สามารถเดินเล่นและคุ้ยเขี่ยหาอาหารจำพวกมด แมลง และหญ้าได้ เป็นการช่วยลดความเครียดให้กับไก่ จึงทำให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรง อารมณ์ดีและผลิตไข่ไก่แบบอินทรีย์ที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ปลอดภัยต่อผู้บริโภคเหมาะสำหรับผู้ที่ดูแลสุขภาพ ส่งผลให้ราคาไข่ไก่สูงกว่าไข่ไก่ที่เลี้ยงในระบบปิดทั่วไป ปัจจัยหลักในการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีให้ได้ผลผลิตที่ดีนั้น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวว่า เบื้องต้นให้พิจารณาพื้นที่การเลี้ยงควรเป็นพื้นที่โปร่ง อากาศถ่ายเทดี สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ คัดเลือกสายพันธุ์ไก่ไข่ที่มีความแข็งแรงจะทำให้ไก่ออกไข่ได้เร็วอย่างต่อเนื่อง และมีอายุยืนทำให้ปลดระวางช้า ช่วยลดต้นทุนในการจัดหาพันธุ์ไก่มาเลี้ยงในรุ่นต่อๆ ไปได้ สำหรับอัตราการปล่อยไก่ไข่ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพและจำนวนของพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่ควรเกิน 4 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร มีโรงเรือนสำหรับหลบฝนและวางรังสำหรับให้ไก่ไข่ที่ไม่ควรเกิน 7 แม่ต่อ 1 รัง เพื่อป้องกันการแย่งรังไข่แล้วไก่จิกตีกันทำให้บาดเจ็บได้ “สำหรับอาหารไก่นั้น ทางส่วนงานด้านการปศุสัตว์ของศูนย์ฯ แนะนำว่าควรเป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ สามารถหาได้ตามท้องถิ่น เช่น มันสำปะหลัง รำข้าว ปลายข้าว ผักสีเขียว ร่วมกับอาหารเสริม เช่น แร่ธาตุ สมุนไพร ส่วนอาหารเสริม เช่น หญ้า สัตว์เล็กๆ จำพวกหนอน หอยทาก ไก่จะหากินเองในพื้นที่สวน ซึ่งส่วนนี้จะช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของสารเคมีที่ใช้ในการทำลายแมลงศัตรูพืชและการตัดหญ้าในพื้นที่สวนได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันมูลไก่นับเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีสำหรับการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพรสชาติอร่อยของพันธุ์ไม้จำพวกให้ผล เมื่อนำไปจำหน่ายจึงได้ราคาดี” นายโรจน์วัฒน์ อินทร์ทุ่ง กล่าว ด้านโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีนั้น ควรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ โรงเรือนเพื่อให้ไก่วางไข่และเพื่อหลับนอน อีกส่วนเป็นพื้นที่สนามหญ้าสำหรับให้ไก่ได้เดินวิ่งเล่นออกกำลังกายและเป็นพื้นที่หาอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งการจัดระบบเช่นนี้จะช่วยให้สามารถควบคุมโรคที่เกิดกับไก่ได้ง่ายยิ่งขึ้น เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือประชาชนโดยทั่วไปที่มีความสนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 086-860-9888 ในวันเวลาราชการ