นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวในเสวนา "การตรวจสอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท-เงินสะสมท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาโควิด-19" ว่า การดำเนินการในการใช้งบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท มีหลายขั้นตอนทั้งการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการใช้เงิน หลังจากที่รัฐบาลได้กู้มาแล้ว ซึ่ง ครม.จะเป็นผู้อนุมัติแผนงานโครงการต่าง ๆ โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ได้เริ่มเสนอโครงการเข้ามาขอใช้งบฯ ทั้งนี้ ในส่วน ป.ป.ช.ได้มีการศึกษาที่มาและที่ไปของงบประมาณและดูจากข้อมูลต่าง ๆ กระบวนการทำงาน รวมทั้งช่วงที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น โดยข้อมูลเหล่านี้หลังมีการอนุมัติแผน จะทำให้ป.ป.ช.ทำงานได้รวดเร็วขึ้น เบื้องต้นได้มีการตั้งทีมงานศึกษาแผนงานใช้เงินกู้ ที่สำนักงานเฝ้าระวัง ของ ป.ป.ช.ติดตามอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีผู้ร้องจะดำเนินการทันที เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในช่วงที่มีการระบาดโรคโควิด-19 พบว่ามีการร้องเรียนจากท้องถิ่นเข้ามา 23 เรื่อง 10 ข้อหาโดยกระจายเรื่องร้องเรียนไปตามภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือ 3 เรื่อง ภาคกลาง 10 เรื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 เรื่อง และภาคใต้ 3 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ มีทั้งการทุจริตสิ่งของและตัวบุคคล ซึ่งพบว่ามีมูลและตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 1 เรื่อง คือเรื่องการจัดซื้อชุดดูแลผู้สูงวัย หรือแคร์เซ็ต ของ อบจ.ลำพูน อย่างไรก็ตามใน 10 ข้อหา พบว่ารูปแบบการทุจริตไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม คือ ทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซื้อของไม่มีคุณภาพ แพงเกินจริง มีเงินทอน และเรียกรับเงิน นายวรวิทย์ ยังกล่าวว่า ในการจัดซื้อหรือใช้งบทางหน่วยงานต่าง ๆ จะใช้เหตุผลหรือข้ออ้างว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน อยู่ในช่วงที่ของมีราคาแพง และความจำเป็นต้องจัดซื้อให้กับประชาชน หน่วยงานต่าง ๆ ต้องยึดตามระเบียบและ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ไม่ต้องกังวลว่า ป.ป.ช.จะตรวจสอบไม่ได้ แม้แต่เจลและแอลกอฮอลล์ที่มีการใช้ไปแล้วก็ตาม ก็สามารถตรวจสอบได้ทั้งพยานวัตถุและพยานบุคคล แม้บางกรณีจะมีการยกเลิกก่อนการจัดซื้อ ถ้ามีการร้องเรียน ป.ป.ช.ต้องไปตรวจสอบว่าทำให้เกิดความเสียหายและเกิดการทุจริตหรือไม่ ซึ่งเมื่อป.ป.ช.ได้รับเรื่องมา จะตรวจสอบเป็นการเร่งด่วน หรือฟาส์ตแทร็กทันที เลขาฯป.ป.ช. กล่าวว่า ขณะนี้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทุจริต โดยมีการเสนอให้จัดทำเว็บไซต์เฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเป็นพิเศษในเรื่องเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เว็บดังกล่าวจะมีโครงการของหน่วยงานต่างๆเพื่อให้ประชาชน และเครือข่ายพันธมิตรเข้าไปตรวจสอบโดยง่าย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจการทำงานของ ป.ป.ช.ร่วมตรวจสอบและแจ้งเบาะแสเข้ามาได้ตลอดเวลา ด้านนายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.กล่าวถึงถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบเรื่องกล่าวหาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำพูนรวม 18 คน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีดำเนินโครงการป้องกันผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยจัดซื้อชุดของใช้ประจำวัน หรือแคร์เซ็ตในราคาสูง ว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอนุกรรมการไต่สวน แต่คาดว่าจะสามารถชี้มูลได้ในสิ้นปี 63 นี้ "ตอนนี้ยังมีหลายพื้นที่ทั้ง สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสระบุรี ซึ่งยังอยู่ระหว่างการลงพื้นที่เเสวงหาข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันว่า ป.ป.ช. จะเร่งดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อย่างมีบางกรณีที่ประชาชนร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสมายัง ป.ป.ช. ก็ได้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพื้นที่ทันที"นายนิวัติไชย กล่าว