"สนธิรัตน์" เมินการเมืองขอมุ่งทำงานรับใช้ปชช. ด้าน"แรมโบ้อีสาน"มั่นใจไร้สส.โดดหนี"บิ๊กตู่" ยัน1ปีรัฐบาลทุ่มเทรับใช้ปชช. ด้าน"ไพศาล" ส่งซิก "บิ๊กป้อม" เคาะรายชื่อกรรมการบริการพปชร.เรียบร้อยแล้ว รอประกาศอย่างเป็นทางการ ขณะที่"เพื่อไทย" บอกไม่เป็นธรรมกับสภา หาก "บิ๊กตู่" ยุบสภาเพราะศึกแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีของแกนนำรบ. แนะแก้รธน. ล้างกติกาเดิม วางรากฐานใหม่ให้กับบ้านเมือง ส่วน "เลือกตั้งท้องถิ่น" ส่อวุ่น "วิษณุ" รับงบถูกดึงช่วย "โควิด-19" ชี้มหาดไทยพร้อมเสนอ รบ.แจ้ง กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง ส่วน "สุทิน" เชื่อเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดยาก เหตุรัฐบาลไม่อยากให้เกิดประชาธิปไตย-กระจายอำนาจสู่มือปชช. "ซูเปอร์โพล"เผยเลือกตั้ง 1 ปี "ปชช."ระบุชีวิตแย่ลง เบื่อ"แย่งเก้าอี้รมต."ทำบ้านเมืองวุ่น เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.63 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะรักษาการเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคและคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ตนขอยุติปมประเด็นการเมือง ขอมุ่งหน้าทำงานให้เหมาะสมกับภาระหน้าที่ที่ได้รับความไว้วางใจจากนายกฯและประชาชน ด้าน นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวเห็นด้วยกับผลสำรวจความคิดเห็น"ซูเปอร์โพล" ที่ประชาชนส่วนใหญ่ ขอคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริตตามศาสตร์พระราชา ไม่ถอนทุนคืนไม่มีประวัติด่างพร้อย เข้าช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน จะเห็นว่าได้เลือกคนที่ถูกต้องและตรงกับงาน เพราะทุกคนตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน จนสามารถแก้ไขสถานการณ์ปัญหาต่างๆของประเทศได้ดีขึ้นในหลายๆเรื่อง ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสพวิกฤตอย่างหนักไม่ว่าจะเป็นวิกฤตไวรัสโควิด วิกฤตด้านเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยสามารถฝ่าฟันให้ดีขึ้นตามลำดับ "ยังเป็นที่น่าสนใจ ที่ผลสำรวจความคิดเห็น ระบุว่า กลุ่มคนที่จะกระโดดหนีนายกฯ เป็นกลุ่มแรกหากเกิดปัญหาคือ ส.ส.ที่ปากบอกว่ารักนายกฯ ตอนที่นายกฯมีอำนาจ โดยหากมีส.ส.ในลักษณะดังกล่าวจริงก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่ในความเห็นส่วนตัว ยังมั่นใจว่าจะไม่มีปรากฏการณ์เช่นนั้น เพราะส.ส.ในฐานะที่เป็นตัวแทนประชา ชนในพื้นที่ ควรที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือประชาชน เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 1 ปีของรัฐบาล ส.ส.ในซีกฝ่ายรัฐบาลทุกคนร่วมมือกันช่วยงานรัฐบาลและยืนเคียงข้างนายกฯด้วยความทุ่มเทอย่างเต็มที่เพราะจิตวิญญาณการเป็นส.ส.คือผู้รับใช้ประชาชนรับใช้ประเทศชาติเช่นเดียวกับนายกฯ ด้าน นายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงความวุ่นวายในพรรคพปชร.ว่า "การปรับคณะกรรมการบริหารพรรค คงลงตัวเรียบร้อยแล้วเหลือแค่เวลาประกาศ เป็นทางการเท่านั้น" นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีผลสำรวจระบุว่าสังคมสนับสนุนนายกฯ ให้ยุบสภา เพื่อแก้ปัญหาการเมืองในพรรคแกนนำรัฐบาลที่กำลังแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรีกันอยู่ว่า ในฐานะที่เป็นส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน การยุบสภาเป็นวิถีทางประชาธิปไตย คนเป็น ส.ส.ต้องพร้อมเสมอสำหรับการตัดสินใจทางการเมืองของฝ่ายบริหาร ถ้าเหตุผลของการยุบสภามาจากการแย่งตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีในพรรคแกนนำรัฐบาลก็ไม่เป็นธรรมกับสภา โดยภาพรวมที่ไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกับฝ่ายบริหารจนการบริหารราชการแผ่นดินเดินหน้าไปไม่ได้ และสำคัญที่สุดก็คือหากประเทศไทยจัดการเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิมที่เป็นอยู่ คือระบบการเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม และส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ผลลัพธ์ที่จะเกิดก็คือจะได้ส.ส.จากพรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นพรรคเล็ก พรรคน้อยมากมาย ให้ผู้ที่คิดสืบทอดอำนาจเลือกชิม ช้อป ใช้ ได้ตามอำเภอใจเหมือนที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นทางด้านการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยก็จะเป็นศูนย์ ไม่เหลือซึ่งความเชื่อมั่นใดๆ เลย ซึ่งเท่ากับผู้บริหารประเทศกำลังจะย่ำยีทำร้ายประเทศของตนเองอย่างยับเยิน นายชวลิต กล่าวต่อว่า นายกฯ ไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะยุบสภาเพื่อแก้ไขปัญหาภายในพรรคแกนนำรัฐบาลเอง แต่ควรส่งสัญญาณไปยังคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เร่งการพิจารณาเสนอทางออกในประเด็นสำคัญ เช่น ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. การได้มาซึ่ง ส.ว. และอำนาจหน้าที่ ส.ว. เป็นต้น ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกวิธี ทั้งไม่ทำร้ายมาตุภูมิให้เสียหายยับเยินไปมากกว่านี้ ถึงเวลาแล้วที่นายกฯ และคณะจะได้พิจารณาถึงปัจจัยสถานการณ์ที่อ้างว่า เข้ามาบริหารประเทศเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ตอนนี้เวลาผ่านมากว่า 6 ปี บ้านเมืองสงบเรียบร้อยมา แต่มีวิกฤติปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้เข้ามาแทนที่ ซึ่งต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาแก้ไขปัญหาถึงจะพ้นวิกฤติ แต่ก่อนจะคืนอำนาจก็ควรคืนความสุขแก่ประชาชนคนไทยด้วยการทำให้กติกาบ้านเมืองกลับมาสู่ปกติในแนวทางประชาธิปไตยโดยเร็ว จะเป็นช่วงรอยต่อทางประวัติศาสตร์ของการส่งผ่านบ้านเมืองไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ถึงเวลาแล้วที่ท่านจะละวางแล้ววางรากฐานดี ๆ ไว้กับบ้านเมือง ตนหวังไว้เช่นนั้น แม้ว่าความหวังของจะริบหรี่ก็ตาม ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นว่า เรื่องนี้ต้องมีความพร้อมเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ประชาชนและงบประมาณ โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะงบถูกดึงไปใช้ในเรื่องโควิด-19แล้ว อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงมหาดไทยมีความพร้อมก็ต้องเสนอมาที่รัฐบาล เพื่อแจ้ง กกต. ให้กำหนดวันเลือกตั้ง แต่แค่จะมีการเลือกตั้งซ่อมที่ลำปางเขต 4 ก็มีปัญหาแล้ว เพราะมีการแจ้งมาที่ตนว่า ส่งเจ้าหน้าที่ไปเตรียมการเลือกตั้งก็ถูกกักตัวไว้ 14 วัน ดังนั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งด้วยเช่นกัน ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายวิษณุระบุถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า เราตั้งข้อสังเกตมาแต่ต้นว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการกระจายอำนาจ จึงไม่เห็นถึงความสำคัญในการเลือกตั้งท้องถิ่น ฉะนั้นการเลือกตั้งถ้องถิ่นจึงมีความพยายามจะหาข้ออ้างเพื่อเลื่อนออกมาเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดข้ออ้างจึงอาจจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งในขณะนี้ก็ได้ข้ออ้างใหม่ คือการระบาดของโควิด-19 "ที่รัฐบาลไม่อยากให้มีการเลือกตั้งต้องดูที่ต้นทาง ทั้งนี้มีการพูดคุยกันในกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ มองว่ารัฐบาลไม่อยากให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้นในประเทศ ไม่อยากให้อำนาจมาถึงประชาชน จึงเกิดการบอนไซการกระจายอำนาจ ไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งนี้มองว่าไม่ใช่แค่การเลือกตั้งท้องถิ่น หากดูทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่เคยกระจายอำนาจออกไป ก็ถูกดึงกลับมาหมด เช่น กระทรวงศึกษาธิการ จะเห็นว่ามีการตั้งศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการเขต ศึกษาธิการจังหวัดทับซ้อนกัน ผมรู้มานานแล้วว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เกิดขึ้นง่ายๆ และที่คาดกันว่าจะเกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนก.ค. ผมว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะได้ข้ออ้างโควิด-19 รวมถึงการอ้างเรื่องงบประมาณนั้นมองว่าถ้าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นจริงๆ งบประมาณไม่ใช่ปัญหา ท้องถิ่นก็จัดเตรียมงบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้งไว้อยู่แล้ว นอกจากนี้หากงบประมาณไม่พอส่วนกลางจะจัดงบเพิ่มเติมให้ ดังนั้นการที่อ้างว่างบท้องถิ่นนำไปใช้เกี่ยวกับโควิด-19 นั้น ผมมองว่าเป็นเพียงข้ออ้าง" ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง แนวโน้มจุดยืนการเมืองประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 3,087 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 - 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า เมื่อสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหลังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งมากว่า 1 ปี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 43.2 ระบุชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง และร้อยละ 31.5 ระบุแย่เหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 21.9 ระบุดีเหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 3.4 เท่านั้นที่ระบุว่า ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นที่น่าเป็นห่วงคือ ในขณะที่ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง แต่สาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายมากขึ้น ผลสำรวจพบสาเหตุที่ทำบ้านเมืองวุ่นวายมากที่สุดหรือร้อยละ 21.8 ระบุ การแย่งตำแหน่งรัฐมนตรี รองลงมาคือร้อยละ 19.4 ระบุ ความแตกแยกของคนในพรรคการเมือง ร้อยละ 17.9 ระบุ คนในรัฐบาลเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย ร้อยละ 12.3 ระบุ ส.ส.จำนวนหนึ่งที่คอยสร้างความขัดแย้งกับคนอื่นไปทั่วรอบด้าน ร้อยละ 11.3 ระบุ ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจความวุ่นวายของบ้านเมือง และร้อยละ 17.3 ระบุอื่น ๆ เช่น มีคนจ้องจะถอนทุนคืน และผู้ใหญ่คล้อยตามแรงยั่วยุจากคนรอบข้าง ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามคนที่นายกฯ ควรวางใจระหว่าง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้คุมกระทรวงสำคัญ ถ้ามีการปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า สูสีไม่แตกต่างกัน คือ ร้อยละ 25.1 ระบุ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ในขณะที่ร้อยละ 25.0 ระบุ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 49.9 ระบุอื่น ๆ เช่น ไม่ทราบ ไม่เสนอ ไม่ออกความเห็น เป็นต้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มจุดยืนทางการเมืองของประชาชน ตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน 2562 ถึง ช่วงปลดล็อกผ่อนปรนโควิด-19 เดือนมิถุนายน 2563 พบว่า แนวโน้มกลุ่มคนไม่สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย จากร้อยละ 52.2 ช่วงหลัง กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐลาออก ไปอยู่ที่ร้อยละ 54.4 ในผลสำรวจล่าสุด ทิ้งห่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลที่มีอยู่ร้อยละ 22.3 และพลังเงียบหดตัวลงอีกจากร้อยละ 27.4 เหลือร้อยละ 23.3